เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว หลายคนอาจคุ้นเคยกับการนั่งกรอกเอกสารกองเป็นภูเขาแล้วต่อด้วยการลากกายหยาบเดินทางไปยังสำนักงาน หรือหน่วยงานที่รับยื่นภาษี แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนผันไป อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้นทำให้การยื่นภาษีในรูปแบบกระดาษ ดูจะเป็นอะไรที่ไม่ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตยุคดิจิทัลซักเท่าไหร่ ทางกรมสรรพากรเล็งเห็นถึงข้อนี้จึงอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนด้วยการเพิ่ม การยื่นภาษีแบบออนไลน์ขึ้นมาอีกหนึ่งช่องทาง
สำหรับการยื่นภาษีออนไลน์นั้นคล้ายคลึงกับการยื่นภาษีแบบกระดาษ แต่จะสะดวกกว่าในเรื่องของเวลาและการเดินทาง เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือเมื่อไหร่ก็สามารถยื่นภาษีได้ทันที เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตเท่านั้น
การยื่นภาษีออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด
หลายคนอาจมีความเชื่อที่ฝังติดตัวมาตลอดว่าการยื่นภาษีไม่ว่าจะในรูปแบบกระดาษ หรือออนไลน์เป็นเรื่องที่วุ่นวาย ยุ่งยาก และซับซ้อน แต่ความเป็นจริงแล้วการยื่นภาษี โดยเฉพาะแบบออนไลน์นั้นไม่ได้ยากอย่างที่หลายๆ คนจินตนาการ และบทความนี้ก็จะช่วยพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าการยื่นภาษีออนไลน์นั้นง่ายนิดเดียว
ขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของสรรพากร
ขั้นตอนที่ 1 เข้าสู่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th หรือคลิกที่นี่ https://www.rd.go.th หลังจากนั้นกดที่ “ยื่นออนไลน์”
ขั้นตอนที่ 2 กดที่ “ยื่นแบบออนไลน์”
หมายเหตุ อย่าลืมสมัครสมาชิกผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ก่อนเพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบการยื่นภาษีได้
**อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับ ภ.ง.ด. เพิ่มเติมได้ที่บทความ “คนยื่นภาษีต้องรู้!!! รายได้แบบนี้ต้องยื่นภ.ง.ด แบบไหน”
**อ่านรายละเอียดเกี่ยวเงินได้แต่ละประเภทเพิ่มเติมได้ที่บทความ “ไขข้อสงสัย? รายได้แบบไหนบ้างที่ต้องเสียภาษี”
ขั้นตอนที่ 3 กรอกหมายเลขผู้ใช้งาน และรหัสผ่าน
ขั้นตอนที่ 4 หลังจากกดเข้าสู่ระบบแล้วเว็บไซต์จะให้เราเลือก หรือกรอกเบอร์โทรศัพท์ที่ต้องการสำหรับรอรับ sms รหัส OTP 6 หลัก
หลังจากได้รับ sms แล้ว ให้นำรหัส OTP มากรอกลงในช่อง “รหัส OTP ที่ได้รับ”
ขั้นตอนที่ 5 หลังจากกดยืนรหัส OTP แล้วระบบจะเด้งไปที่หน้า “ยื่นแบบ” ให้เรากดยื่นแบบที่กล่อง ภ.ง.ด .90/91
ขั้นตอนที่ 6 เข้าสู่หน้า “กรอกข้อมูลผู้เสียภาษี” ให้ตรวจสอบข้อมูล และเลือกสถานะภาพผู้มีเงินได้ หากตอบครบถ้วนทุกคำถามแล้วให้กด “ถัดไป”
ขั้นตอนที่ 7 เข้าสู่หน้า “กรอกเงินได้” ให้ผู้ยื่นภาษีระบุข้อมูลเงินได้ที่ได้รับมาระหว่างปีภาษี 64 ยกตัวอยางเช่น ในปี 64 ที่ผ่านมาเรานั้นมีแต่รายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียวก็ให้ระบุข้อมูลในช่องรายได้จากเงินเดือนช่องเดียวพอ
หลังจากที่กดปุ่ม “ระบุข้อมูล” หน้าเว็บจะเด้งไปที่หน้า “เงินเดือนหรือเงินได้ตามสัญญาแรงงาน (มาตรา40(1)) เพื่อให้เรากรอกตัวเลขเงินได้ที่ได้รับมาทั้งหมด ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และเลขผู้จ่ายเงินได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทที่จ่ายเงินได้ให้เรา โดยหน้านี้ ส่วนของรายละเอียดและข้อมูลต่างๆ ที่ต้องกรอกอาจจจะแตกต่างกันไปตามประเภทเงินได้ที่เราเลือก
ขันตอนที่ 8 เข้าสู่หน้า “กรอกลดหย่อน” หากในปี 64 ที่ผ่านมาเรามีสิทธิลดหย่อนภาษี อาทิเช่น ค่าลดหย่อนบุตร หรือได้ทำประกันสุขภาพไว้ ก็ให้ระบุข้อมูลในรายการสิทธิลดหย่อนภาษีนั้นๆ
ขั้นตอนที่ 9 เข้าสู่หน้า “ตรวจสอบข้อมูล” ในหน้านี้จะช่วยสรุปว่าผู้ยื่นภาษีมีรายการลดหย่อนภาษีอะไรบ้าง ในกรณีที่ผู้ยื่นภาษีไม่เลือกรายการลดหย่อนใดระบบก็แสดงเพียงรายการลดหย่อนส่วนตัวเท่านั้น รวมไปถึงแสดงการคำนวณภาษีที่ต้องเสียให้เสร็จสรรพ หากตัวเลขเป็น 0.00 แสดงว่าไม่ต้องชำระเพิ่มเติม หรือไม่มีจำนวนเงินที่ชำระไว้เกิน
หมายเหตุ
- หากชำระไว้เกิน สามารถบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองที่ชื่นชอบได้ หรือจะเลือกขอคืนเงินภาษีก็ได้เช่นกัน
- สามารถเลือกผ่อนชำระได้ 3 งวด ในมูลค่าที่เท่ากันทุกๆ งวดได้หากต้องชำระภาษีเพิ่มเติม
ขั้นตอนที่ 10 เข้าสู่หน้า “ยืนยันการยื่นแบบ” หากผู้ยื่นภาษีตรวจสอบดูแล้วว่าข้อมูลถูกต้องทุกประการก็กดที่ปุ่มยืนยันการยื่นแบบเลย และสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ ชำระภาษี (ถ้ามีนะ)
การยื่นภาษีออนไลน์นอกจากจะยื่นผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรได้แล้วยังสามารถยื่นผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax ได้ หรือจะเตรียมข้อมูลยื่นภาษีผ่านผู้ให้บริการอย่าง noon tax ก็ได้เช่นกัน
สรุป การยื่นภาษีออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นบนเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือเตรียมข้อมูลภาษีผ่าน noon tax ล้วนเป็นช่องทางที่เกิดมาเพื่ออำนวยความสะดวกสบาย และลดขั้นตอนวุ่นวายให้กับผู้ยื่นภาษี อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมไปในทางอ้อม และที่สำคัญอย่าลืมเตรียมเอกสารให้พร้อมด้วยนะ
อย่าลืม!! สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ถึงวันที่ 10 เมษายน 66 นี้เท่านั้น ส่วนยื่นแบบกระดาษยื่นได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 66