“รายได้” หรือ “เงินได้” คำที่ทุกคนต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่ไม่คุ้นซักทีคือการยื่นภาษี ทั้งขั้นตอนวุ่นวายมากมี วิธีการคำนวณภาษีก็ชวนสับสน และจะยิ่งปวดหัวแบบทวีคูณขึ้นไปอีกเมื่อคุณเป็นผู้ยื่นภาษีที่มีเงินได้จากหลากหลายช่องทาง
เงินได้ หมายถึง รายได้ หรือรายรับที่เราได้รับมาจากการประกอบอาชีพ หรือกระทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ก่อให้เกิดรายรับ โดยเงินได้ตามกฎหมายที่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคลธรรมดานั้นเรียกว่า “เงินได้พึงประมาณ” ซึ่งสรรพากรได้นิยามความหมายของคำว่า “เงินได้พึงประมาณ” ไว้ดังนี้ เงินได้ของบุคคลใดๆ หรือหน่วยภาษีใดข้างต้นที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของปีใดๆ หรือเงินได้ ที่เกิดขึ้นในปีภาษี ได้แก่
เงินได้ซึ่งเกิดจากประกอบอาชีพ หรือกิจกรรมที่แตกต่างกันนั้นในทางกฎหมายแล้วไม่สามารถใช้วิธีคำนวณภาษีภายใต้เงื่อนไขเดียวกันได้ เพราะมีที่มาที่ไปแตกต่างกัน และเพื่อเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันทางภาษีสรรพกรจึงได้กำหนดลักษณะของเงินได้พึงประมาณที่ต้องเสียภาษีไว้ทั้งหมด 8 ประเภท ซึ่งเงินได้แต่ละประเภทจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าต้องเสียภาษีเท่าไหร่ และต้องใช้เงื่อนไขใดในการคำนวณภาษี
ประเภทที่ 1 เงินได้จากการทำงานประจำ (มาตรา 40(1))
- เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
- เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง
- เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ซึ่งนายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
- เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ให้
- เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากนายจ้าง หรือการทำงาน
- ค่าชดเชยในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง
ประเภทที่ 2 เงินได้จากการรับจ้างทำงานทั่วไป โดยผู้ยื่นภาษีต้องไม่อยู่ในฐานะเจ้าลูกน้อง (มาตรา 40(2))
- ค่าคอมมิชชั่น ค่านายหน้า เช่น รายได้จากการขายประกันชีวิต (ตัวแทนประกันชีวิต)
- ค่าตอบแทนจากการรับจ้างรีวิว
- ค่าตอบแทนของพริตตี้ พิธีกร MC ในงาน event ต่างๆ
- เงินค่าที่ปรึกษาต่างๆ ยกเว้นเงินค่าที่ปรึกษาของผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพพยาบาล/แพทย์
- เงินว่าจ้างเคลียร์หนี้สิน
- เบี้ยประชุม ค่าสอน ค่าสอบที่หน่วยงานเอกชนจ่ายให้
- เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากการรับจ้างทำงานทั่วไป
- ค่าตอบแทนจากการรับจ้างสร้างผลงาน ซึ่งสิขสิทธิ์จะต้องตกไปเป็นของผู้ว่าจ้างเมื่อชิ้นงานเสร็จแล้ว เช่น ค่าตอบแทนจากการแต่งเพลง ค่าตอบแทนจากการรับจ้างทำเว็บไซต์
- ค่าตอบแทนของผู้ประกาศข่าว
ประเภทที่ 3 เงินได้จากค่าลิขสิทธิ์ (มาตรา 40(3))
- ค่าลิขสิทธิ์ คือค่าตอบแทนหรือค่าจ้างที่ได้รับการสร้างชิ้นงาน อาทิเช่น เพลง ซึ่งผู้ว่าจ้างตกลงให้คุณเป็นเจ้าของสิขสิทธิ์แต่อนุญาตให้ผู้ว่าจ้างใช้ประโยชน์จากชิ้นงานได้
- เงินได้จากทรัพย์สินทางปัญญา เช่นค่าเฟรนไชส์ ค่าสิทธิบัตร เป็นต้น
- ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ หรือค่าความนิยม คือคุณค่าของกิจการที่ไม่ใช่รูปธรรม เช่นค่าตอบแทนชื่อเสียงของเครื่องหมายทางการค้า
ประเภทที่ 4 เงินได้ในรูปแบบของดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่ง หรือผลตอบแทนสกุลเงินดิจิทัล(cryptocurrency) (มาตรา 40(4))
- ดอกเบี้ยพันธบัตร
- ดอกเบี้ยเงินฝาก
- ดอกเบี้ยหุ้นกู้
- ดอกเบี้ยตั๋วเงิน
- ดอกเบี้ยเงินกู้
- ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย
- ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน
- เงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืมหรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิด
- เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายไทยให้จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะสำหรับให้กู้ยืมเงิน
- เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
- เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน
- เงินเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งจากกำไรที่ได้มาหรือรับช่วงกันไว้รวมกัน
- ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากันหรือรับช่วงกันหรือ เลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
- ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วนหรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ซึ่งต้องตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
- ผลกำไรจากการขาย หรือได้รับผลประโยชน์จากสกุลเงินดิจิทัล(cryptocurrency) จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และต้องนำไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
หมายเหตุ เงินได้ประเภทที่ 4 สามารถเลือกเสียภาษีโดยใช้วิธีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ได้
ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่น (มาตรา 40(5))
- ค่าเช่าทรัพย์สินต่างๆ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่ารถยนต์
- การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
- การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
ประเภทที่ 6 เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ (มาตรา 40(6))
- วิชากฎหมาย เช่น ค่าที่ปรึกษาทางกฎหมาย
- การประกอบโรคศิลปะ ได้แก่
- เวชกรรม
- ทันตกรรม
- เภสัชกรรม
- การพยาบาล
- การผดุงครรภ์
- กายภาพบำบัด
- เทคนิคการแพทย์
- วิศวกรรม เช่น ค่าที่ปรึกษาการสร้างผลงาน
- สถาปัตยกรรม เช่น ค่าออกแบบ
- การบัญชี เช่น ค่าทำบัญชี
- ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
ประเภทที่ 7 เงินได้จากการรับเหมาและจัดหาสัมภาระ (มาตรา 40(7))
- ค่ารับเหมาก่อสร้าง
- รับผลิตสินค้าตามแบบที่ผู้ว่าจ้างต้องการ โดยต้องเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีขายตามปกติทั่วไป
ประเภทที่ 8 เงินได้ที่ไม่มีระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 (มาตรา 40(8))
- เงินปันผลจากทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
- การขายอสังหาริมทรัพย์
- ค่าจ้างจากการเป็นนักแสดงฟรีแลนซ์
- เงินได้จากการเปิดร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ภัตตาคาร และโรงแรม
- เงินจากการขายของออนไลน์
- เงินได้อื่นๆ ไม่มีระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7
อย่าลืมกลับไปสำรวจรายได้กันนะ ว่ารายได้ของเรานั้นเข้าข่ายเงินได้ประเภทไหนเพื่อให้ง่ายต่อการยื่นภาษีปี 66 นี้นะ
ขอบคุณแห่งข้อมูลจาก :rd.go.th,itax.in.th