เกือบทุกครั้งที่ทำเรื่องกู้สินเชื่อบ้าน หรือคอนโด ธนาคารมักจะเสนอขายประกันมาพ่วงมาด้วย ซึ่งประกันประเภทนี้มีชื่อว่าประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อบ้าน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าประกัน MRTA
ประกัน MRTA หรือประกันคุ้มครองสินเชื่อเพื่อประชาชนเปรียบเสมือนฟังก์ชันเสริมที่เราสามารถเลือกที่จะทำ หรือไม่ทำก็ได้ เพราะเจ้าหน้าที่สินเชื่อไม่มีสิทธิในการบังคับขายประกัน MRTA ให้แก่เรา อ้างอิงจากประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต และนายหน้าประกันชีวิต และธนาคาร พ.ศ. 2551 “มีข้อกำหนดให้การทำประกันภัยของลูกค้าธนาคารต้องเป็นไปโดยสมัครใจ ห้ามมิให้มีการบังคับ หรือใช้เป็นเงื่อนไขในการต่อรองการให้สินเชื่อ หรือธุรกรรมอื่นใดของธนาคาร”
ดังนั้นการตัดสินใจจึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเราล้วนๆ แต่ทางเลือกไหนจะเป็นผลลัพธ์ที่ตรงใจที่สุด ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้จักประกัน MRTA ดีแค่ไหน
ประกัน MRTA คืออะไร
ประกัน MRTA ย่อมาจาก Mortgage Reduced Term Assurance หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ มีจุดประสงค์เพื่อคุ้มครองภาระหนี้สินจากบ้าน หรือคอนโดที่อาจตกถึงคนข้างหลังในกรณีที่อยู่อาศัยนั้นๆ จากไปอย่างกระทันหัน ซึ่งประกันประเภทนี้ต่างจากประกันชีวิตทั่วไปตรงที่วงเงินคุ้มครองจะลดลงไปเรื่อยๆ ตามมูลหนี้สินเชื่อของที่อยู่อาศัย
เบี้ยประกัน MRTA ต้องจ่ายตอนไหน และต้องจ่ายเท่าไหร่
เบี้ยประกัน MRTA ส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายแบบก้อนเดียวจบตั้งแต่ตอนที่เริ่มกู้สินเชื่อ แต่สำหรับกรณีที่ผู้กู้มีกำลังทรัพย์ไม่พอก็สามารถผ่อนชำระพร้อมกับกับค่างวดบ้านได้ โดยเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายนั้นจะเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และการพิจารณาของแต่ละธนาคาร ไม่สามารถฟันธงได้ชัดเจนว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่
ข้อดี และข้อเสียของประกัน MRTA
ข้อดี | ข้อเสีย |
ได้ส่วนลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อเป็นการจูงใจให้คนสนใจทำประกัน MRTA ธนาคารต่างๆ จึงเสนอส่วนลดดอกเบี้ยสินเชื่อให้กับผู้กู้ประมาณ 0.25 – 0.50% อาจจะไม่เยอะ แต่ก็สามารถลดภาระเรื่องดอกเบี้ยงลงได้บ้าง | เบี้ยประกันเป็นแบบจ่ายทิ้ง เบี้ยประกัน MRTA เป็นแบบจ่ายทิ้งไม่มีเงินคืนเมื่ออยู่จนครบสัญญา ซึ่งอาจทำให้รู้สึกว่าไม่คุ้มค่าเท่าไหร่ |
ลดภาระหนี้สินที่อาจตกถึงคนที่เรารัก กรณีที่หัวเรือหลักผู้รับผิดชอบภาระเรื่องบ้านเสียชีวิต พิการ หรือทุพพลภาพถาวร บริษัทประกันจะเข้ามารับผิดชอบค่าผ่อนบ้าน หรือคอนโดแทนให้ ซึ่งเป็นการลดภาระที่อาจตกถึงคนที่เรารักได้ | ดอกเบี้ยของเบี้ยประกันสูง หากไม่สะดวกจ่ายค่าเบี้ยประกันทั้งหมด เราสามารถทำผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ พร้อมกับสินเชื่อบ้านได้ แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนเลยว่าอัตราดอกเบี้ยของเบี้ยประกันสูงมาก และการที่เราทำประกัน MRTA เพื่อหวังจะลดดอกเบี้ยสินเชื่อก็อาจไม่คุ้มค่าอย่างที่คิด |
ระยะเวลาคุ้มครองยืดหยุ่น ผู้กู้ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าการเลือกระยะเวลาคุ้มครองต้องเลือกให้เท่ากับระยะเวลาผ่อนบ้าน แต่จริงๆ แล้วเราสามารถเลือกระยะเวลาคุ้มครองตามความเหมาะสม หรือความต้องการได้ | จ่ายเท่าเดิม แต่ทุนประกันลดลงเรื่อยๆ ทุนคุ้มครองของประกัน MRTA จะลดลงเรื่อยๆ ตามมูลหนี้สินเชื่อของที่อยู่อาศัย แต่เบี้ยประกันที่เราต้องจ่ายนั้นกลับไม่ปรับลดตาม เบี้ยทั้งหมดเท่าไหร่ก็ต้องจ่ายตามนั้น คนส่วนใหญ่จึงมองว่าเป็นการลงทุนที่ดูไม่ค่อยเป็นธรรมซักเท่าไหร่ แต่ถ้าอาชีพของเรามีเสี่ยงที่จะอาจจะก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ทุกเมื่อ การทำประกัน MRTA ไว้ก็อาจเป็นอีกหนึ่งแผนป้องกันที่ดีไม่น้อย |
ผ่อนชำระได้ ธนาคารจะอนุมัติวงเงินกู้เพิ่มเติมให้สำหรับค่าเบี้ยประกันMRTA เราจึงสามารถผ่อนชำระค่าเบี้ยประกันรวมไปกับค่างวดได้เลย | ยุ่งยากหากอยากเวนคืนประกัน ในกรณีที่เราจะขอเวนคืน หรือยกเลิกกรมธรรม์สามารถทำได้ แต่ทางธนาคารจะไม่ได้จ่ายเช็ค หรือคืนเงินให้กับผู้กู้ เพราะจะนำเงินส่วนที่เวนคืนได้ไปหักกับเงินต้นของสินเชื่อแทน และสำหรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อก็จะถูกคำนวณใหม่ เพราะไม่มีส่วนลดสำหรับผู้กู้ที่ทำประกัน MRTA ให้แล้ว ซึ่งอาจทำให้เราต้องวุ่นวายไปทำสัญญาใหม่อีกครั้ง |
ลดหย่อนภาษีได้ ประกัน MRTA ที่มีระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไป สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ |
สรุปแล้วการทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ หรือประกัน MRTA ควรทำหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้กู้ล้วนๆ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนั้น การตัดสินใจของเราจะเป็นตัวกำหนดเอง ซึ่งการตัดสินใจโดยการเอาเหตุผล และความพร้อมของตนเองเป็นที่ตั้ง รวมไปถึงการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ก็จะยิ่งทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากใครที่คิดว่าเงื่อนไข หรือรูปแบบความคุ้มครองของประกัน MRTA ยังไม่ค่อยตอบโจทย์เท่าไหร่ ประกันชีวิตก็อาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ใช้ทดแทนกันได้ แต่อย่าลืมศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อด้วยนะ
คลิกเพื่ออ่าน ประกันชีวิตมีกี่ประเภท และประเภทไหนที่ใช่คุณ
ประกันชีวิตในฝัน หาได้ง่ายๆ ที่ noon.in.th
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: oic.or.th/th, pantip.com, home.co.th, ddproperty.com, aommoneyth, thaihomebuyers.org