ประกันชีวิตนอกจากจะมีประโยชน์ในการคุ้มครองชีวิตแล้วยังนำมาใช้ในการวางแผนการเงินด้านต่างๆได้ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนส่งต่อมรดก, วางแผนเกษียณ, วางแผนค่าใช้จ่ายการศึกษาให้บุตร หรือการฝึกการเก็บออมเงินในรูปแบบประกัน เพื่อเป้าหมายทางการเงินด้านต่างๆ แต่ปัจจุบันมีบริษัทประกันชีวิตมากมายหลายบริษัท แบบประกันมากมายหลายแบบ แล้วเราจะมีวิธีการเลือกอย่างไรถึงจะเลือกซื้อประกันได้ตรงตามความต้องการเราและคุ้มค่ากับเงินที่เราเสียไปที่สุด ปัจจัยอะไรที่ใช้ในการพิจารณาบ้าง วันนี้ noon ได้สรุปเสร็จสรรพรวบรวมมาไว้ในบทความนี้เรียบร้อยแล้ว
วัตถุประสงค์ในการซื้อประกันชีวิตของเรา
ก่อนอื่นเลยเราต้องรู้ก่อนว่าเราซื้อประกันชีวิตเพื่อวัตถุประสงค์อะไร โดยประกันชีวิตนั้นแบ่งได้ 5 แบบ แต่ละแบบก็จะใช้สำหรับวางแผนการเงินตามวัตถุประสงค์ของเราในด้านต่างๆดังนี้
- ประกันชีวืตแบบตลอดชีพ (Whole life)
เหมาะกับการที่เราวางแผนจะส่งต่อมรดกให้ลูกหลานตามทุนประกันที่เราต้องการ
- ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term)
เหมาะสำหรับการวางแผนความคุ้มครองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่นวางแผนคุ้มครองตอนที่ลูกยังเรียนไม่จบเป็นเวลา 10 ปี เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมาลูกก็จะได้รับค่าสินไหมตามทุนประกันที่ทำไว้
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment)
เหมาะสำหรับคนที่เน้นเรื่องเงินคืนที่แน่นอนสามารถนำไปวางแผนการเงินด้านต่างๆได้ เช่น วางแผนเงินการศึกษาบุตรในอีก 15 ปีข้างหน้าเมื่อต้องเข้ามหาวิทยาลัยว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ เราก็นำเงินไปวางไว้ในประกันแบบสะสมทรัพย์ เราก็เลือกประกันแบบระยะเวลาคุ้มครอง 15 ปี เมื่อครบ 15 ปีก็สามารถนำเงินคืนที่ได้มานั้นมาเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาบุตรได้ และยังมีความคุ้มครองระหว่างทางด้วย
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity)
เหมาะกับผู้ที่วางแผนการมีเงินคืนทุกปีหลังเกษียณ ไม่ต้องเป็นภาระลูกหลาน
- ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) เหมาะกับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองสูงๆ และมีโอกาสทำกำไรจากการลงทุน แต่ก็มีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน
1.ความสามารถในการจ่ายเบี้ยของเรา
เมื่อเราทราบถึงแบบประกันชีวิตที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของเราแล้ว จากนั้นเราต้องมาดูตัวเราว่าเรามีความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันเป็นอย่างไร เพราะประกันชีวิตจะเป็นสัญญาระยะยาวตามแบบประกันแต่ละแบบว่าต้องจ่ายเบี้ยกี่ปีและปีละเท่าไหร่ และแต่ละคนมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกันบางคนอาจต้องซื้อหลายฉบับเพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์ที่ต่างกันไป ดังนั้นต้องประเมินตัวเองด้วยว่าเรามีความสามารถจ่ายเบี้ยได้เท่าไหร่ ในแต่ละงวด ถ้าจ่ายรายปีไม่ไหวอาจจะต้องเปลี่ยนเป็นรายเดือน, 3 เดือน, 6 เดือน ก็แล้วแต่ความสามารถในการจ่ายเบี้ยของแต่ละคน
2.ความคุ้มค่าและเหมาะสมกับผู้ทำประกัน
เมื่อเราทราบถึงวัตถุประสงค์ในการซื้อประกันชีวิตของเราและความสามารถในการจ่ายเบี้ยแล้ว เราจะรู้แล้วว่าเราจะต้องการจะซื้อประกันแบบไหน และมีงบเท่าไหร่ในการซื้อ ต่อมาก็ต้องมาดูเลือกแบบประกันที่ต้องการว่าจะเป็นแบบไหนของบริษัทอะไร โดยปัจจุบันเราสามารถหาข้อมูลจากทางอินเตอร์เน็ต มีเว็บไซต์ที่มีข้อมูลเปรียบประกันแบบต่างๆ ของแต่ละบริษัท เช่น noon.in.th ซึ่งเราสามารถระบุข้อมูลส่วนตัวเช่น เพศ, อายุ, สถานะ รวมถึงเบี้ยประกันหรือทุนประกันที่ต้องการ ระบบจะแสดงข้อมูลแบบประกันที่ตรงกับเงื่อนไขตามข้อมูลที่เราระบุและสามารถแสดงข้อมูลเปรียบเทียบด้านต่างๆ เช่น IRR, ทุนประกัน, เบี้ยประกัน เราก็สามารถนำข้อมูลจากระบบมาพิจารณาต่อได้ว่าแบบไหนตรงกับที่เราต้องการและคุ้มค่ามากที่สุด
3.ช่องทางการซื้อประกันชีวิต
เมื่อได้แบบประกันที่ต้องการแล้วก็มาหาช่องทางในการซื้อกัน ในปัจจุบันมีช่องทางการซื้อประกันชีวิตหลายช่องทาง ดังนี้
- ตัวแทนประกันชีวิต
ข้อดี : เป็นช่องทางที่ดี เพราะมีคนดูแลให้ข้อมูลเป็นการส่วนตัว
ข้อเสีย : แต่ต้องระวังตัวแทนไม่ดี เช่น เสนอขายแบบประกันที่ได้ค่าคอมเยอะๆ ซึ่งอาจไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการซื้อประกันชีวิตของเรา
- ธนาคาร
ข้อดี : เป็นช่องทางที่สะดวกซื้อได้ตามธนาคารทั่วไป
ข้อเสีย : ส่วนใหญ่จะเป็นประกันแบบสะสมทรัพย์ และไม่มีคนดูแลเราโดยเฉพาะ
- นายหน้าประกันชีวิต
ข้อดี : สามารถแนะนำประกันได้หลากหลายบริษัท และบางที่มีคนดูแลเราโดยเฉพาะ
ข้อเสีย : มีน้อยและคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักช่องทางนี้
- Tele sale
ข้อดี : สะดวก
ข้อเสีย : เพราะความสะดวกนี่ล่ะที่ทำให้เราอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและอาจทำให้ตัดสินใจผิดได้ และไม่มีคนดูแลเราโดยเฉพาะ
- ออนไลน์ เช่น จากหน้าเว็บไซต์บริษัทประกัน
ข้อดี : สะดวก
ข้อเสีย : ต้องหาข้อมูลด้วยตัวเอง และอาจมีไม่ครบทุกแบบเหมือนช่องทางตัวแทนหรือนายหน้า
โดยสรุป จากช่องทางการเลือกซื้อประกันชีวิตนี้ ขอแนะนำดังนี้ครับ ถ้าเราหาข้อมูลเองและมั่นใจแล้วว่าจะเลือกแบบประกันไหนบริษัทอะไร มีความสามารถในการจ่ายเบี้ยเท่าไหร่ และสามารถดำเนินเรื่องเคลมเองได้เมื่อมีเหตุต้องเคลม ให้เลือกช่องทางการซื้อช่องทางไหนก็ได้แล้วแต่ที่เราสะดวก แต่ถ้าเราต้องการข้อมูลเพิ่มเติม มีคนดูแลเราโดยเฉพาะ และดำเนินการเรื่องเคลมให้ เราควรเลือกช่องทางตัวแทนหรือนายหน้าจะดีกว่า
จากปัจจัยในการเลือกซื้อประกันชีวิตตามที่กล่าวมาข้างต้น จะเป็นแนวทางในการช่วยตัดสินช่วยเลือกซื้อประกันชีวิตของแต่ละคนได้ โดยนอกจากทั้ง 4 ข้อนี้แล้วจะมีปัจจัยอื่นๆที่อาจนำมาพิจารณาร่วมด้วย เช่น ความมั่นคงของบริษัทประกันชีวิต, เรื่องการลดหย่อนภาษี, เรื่องบริการหลังการขาย
โดยข้อมูลต่างๆนี้สามารถขอข้อมูลจากตัวแทนหรือช่องทางอื่นๆที่เราซื้อได้ แต่ก่อนจะตัดสินใจซื้อประกันชีวิตทุกครั้งอยากให้เราตระหนักไว้ว่าประกันชีวิตนั้นเป็นสัญญาผูกพันระยะยาว เราควรจะต้องส่งเบี้ยให้ครบระยะสัญญา เพราะถ้าเวนคืนหรือยกเลิกก่อนครบกำหนดอาจทำให้เราขาดทุนได้ ดังนั้นก่อนจะซื้อควรจะพิจารณาถึงความพร้อมในการชำระเบี้ยของแต่ละคนด้วยว่าพร้อมหรือไม่ เพื่อที่จะให้ประกันชีวิตแต่ละกรมธรรม์ที่เราซื้อนั้นจะตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการได้