2 นาที

เทียบความต่าง RT-PCR test และ Rapid Antigen test วิธีไหนใช่สำหรับเรา

แชร์

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ณ ตอนนี้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะลุหลักหลายพันต่อวัน ความต้องการที่จะตรวจหาเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นเหนือความคาดหมาย เพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนจำนวนมากที่ยังเฝ้ารอการตรวจโควิด-19 อยู่ ทาง สปสช.จึงได้ประสานงานกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการจัดทีมตรวจโควิด-19 เชิงรุก โดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ในการทำการตรวจโควิด-19 

หลายๆ คนอาจมีคำถามว่าวิธีการตรวจโควิด-19 ด้วย Rapid Antigen test  นั้นแตกต่างกับ RT-PCR test อย่างไร เพราะการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยนั้นมักจะใช้วิธี RT-PCR test เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ Rapid Antigen test  ยังเป็นวิธีการใหม่ที่เรายังไม่ค่อยคุ้นเคย วันนี้เพื่อประโยชน์ของทุกๆ คน เราได้จับ RT-PCR test และ Rapid Antigen test  มาเทียบกันแบบหมัดต่อหมัดว่าใครกันแน่ที่จะเป็นตัวจริงเรื่องตรวจโควิด-19 


Rapid Antigen test คือ ชุดการตรวจเชื้อโควิด-19 อย่างง่าย และรวดเร็ว โดยวิธีการนี้จะเก็บตัวอย่างจากทางจมูกหรือจากลำคอมาตรวจหาโปรตีนของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ซึ่งผลของการตรวจจะแม่นยำก็ต่อเมื่อผู้ป่วยรับเชื้อมาแล้ว 5 -14 วัน หรือมีความเข้มข้นของเชื้อไวรัสในระดับที่สูงมากๆ หากอยู่ในระยะฟักตัว หรือเพิ่งได้รับเชื้อมาอาจตรวจไม่เจอ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มียี่ห้อชุดตรวจ Rapid Antigen Test ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว 24 ยี่ห้อ โดยประชาชนสามารถซื้อมาตรวจเองที่บ้านได้ 5 ยี่ห้อ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ก.ค. 64) 


วิธีใช้ชุดตรวจ 

  1. ทำความสะอาดพื้นผิวที่จะวางชุดตรวจด้วยแอลกอฮอล์ 
  2. ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดหรือใช้เจลล้างมือ เป็นเวลา 20 วินาที 
  3. ตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ชุดตรวจให้ดี ห้ามมีรอยแตกหัก หรือเสียหายเด็ดขาด 
  4. ฉีกซองชุดตรวจ และสำรวจวันหมดอายุที่หน้าซองด้วย 
  5. ฉีกซองไม้ Swab จากด้านที่เป็นด้าม ป้องกันการปนเปื้อน และระหว่างที่ดึงไม้ Swab ออกจากซอง ห้ามจับให้เลยขีดที่กำหนดไว้ที่ด้าม  
  6. เอาไม้ Swab แยงเข้าไปในโพรงจมูก ความลึก และวิธีในการแยงจะแตกต่างกันไปตามยี่ห้อของชุดตรวจ ดังนั้นต้องอ่านคำแนะนำการใช้ของแต่ละชุดตรวจให้ละเอียด 
  7. จากนั้นนำไม้ Swab แหย่ลงไปในภาชนะบรรจุน้ำยาที่ให้มาพร้อมกับชุดตรวจ และบีบปลายหลอด เพื่อให้น้ำยาท่วมปลายสำลีไม้ Swab โดยหมุนมากกว่า 10 ครั้ง 
  8. เมื่อหมุนไม้ Swab ครบแล้ว ให้เอาไม้ออกและ ปิดฝาภาชนะ 
  9. นำน้ำยาที่อยู่ในภาชนะหยดลงไปในช่องวงกลมเล็กๆ บนแผ่นทดสอบ จับเวลาประมาณ 15-30 นาที แล้วแต่ยี่ห้อ ห้าม!! อ่านค่าเกินเวลาเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ค่าผิดพลาดได้ 


วิธีอ่านผลตรวจ 


หากรอจนครบตามเวลาที่ชุดตรวจยี่ห้อนั้นๆ กำหนด ให้สังเกตที่ ตัวอักษร C และตัวอักษร T ที่อยู่บนแผ่นทดสอบ ว่ามีลักษณะใด ดังต่อไปนี้ 

  • หากมีแค่ขีดเดียวตรงตัวอักษร C แปลว่า ผลตรวจเป็นลบ หรือไม่ติดเชื้อ 
  • หากมี 2 ขีดตรงตัวอักษร C และ แปลว่า ผลตรวจเป็นบวก หรือติดเชื้อ 
  • หากไม่มีขีดที่ตัว C เช่น ปรากฎแค่ตรง T หรือไม่มีขีดเลย แปลว่าผลตรวจใช้ไม่ได้ ควรตรวจหาเชื้อใหม่อีกครั้ง โดยทำตามคำแนะนำในคู่มืออย่างเคร่งครัด 


หมายเหตุ 


การตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Rapid antigen test นั้นต้องระวังเรื่องผลลวง เมื่อผลเป็นลบไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ แต่เชื้ออาจน้อย ต้องยืนยันผลด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2137781 หรือ ตรวจด้วยชุดตรวจ Rapid antigen test ซ้ำได้อีกครั้ง โดยเว้นระยะห่าง 3-5 วัน แต่หากมีอาการเข้าข่ายเสี่ยง สามารถตรวจซ้ำได้ทันที   



Real-time PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) หรือ RT-PCR test คือ การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยดูจากสารพันธุกรรม RNA ของไวรัสที่ได้มาจากการจากเก็บสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบน ส่วนล่างของผู้สงสัยติดเชื้อ ซึ่งวิธีนี้เป็นตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่องค์กรอนามัยโลกแนะนำ มีความแม่นยำสูง สามารถตรวจจับเชื้อได้แม้มีความเข้มข้นของเชื้อในปริมาณที่น้อย และสามารถทราบผลการตรวจได้ภายใน 3 – 5 ชั่วโมง 


วิธีการตรวจ  

  1. เจ้าหน้าที่จะใช้ไม้ swab สอดเข้าทางโพรงจมูกหรือลำคอ ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วินาที เพื่อเก็บสารคัดหลั่งมาตรวจหาเชื้อไวรัส (Nasopharyngeal swab PCR) 
  2. รอแจ้งผลตรวจภายใน 3-5 ชั่วโมง 



เทียบ RT-PCR test Vs Rapid Antigen test  วิธีไหนใช่สำหรับเรา

 RT-PCR test Rapid Antigen test 
การตรวจและแปรผล บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ประชาชนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ 
ตัวอย่างที่ใช้ตรวจ สารคัดหลั่งจากจมูก หรือลำคอ สารคัดหลั่งจากจมูก หรือลำคอ 
ระยะเวลาทราบผลตรวจ ภายใน 3-5 ชั่วโมง ภายใน 30 นาที 
ความแม่นยำ สูงกว่า rapid antigen testน้อยกว่า RT-PCR
ค่าใช้จ่าย สูง (ประมาณ 2,000 – 4800) ต่ำ (ชุดละ ประมาณ 300-400 บาท ) 



ขอบคุณแหล่งข้อมูล : thematter.co, hfocus.org, pca.fda.moph.go.th, assets.publishing.service.gov.uk, mgronline.com, thairath.co.th, bbc.com, covid.gov.cz, memorialhealthcare.org, www.moh.gov.sg, theworldmedicalcenter.com, prachachat.net, facebook.com/Sumnakkaow.PRD, nhso.go.th, thairath.co.th

แชร์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ยื่นภาษีไม่ทัน มีทางแก้อะไรบ้าง?

ตายแล้ว!!! มัวแต่ทำนู้นทำนี่จนลืมยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา(ภ.ง.ด.90/91) ไปเลย แล้วอย่างนี้จะเอาไงต่อดีล่ะ ไม่ต้องกังวลใจไปเพราะบทความนี้มีคำตอบ

พนักงานเงินเดือนยื่นภาษีออนไลน์ง่ายๆ แค่นี้เอง!

หมดกังวลเรื่องยื่นภาษี! บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับวิธีการยื่นภาษีออนไลน์สำหรับพนักงานเงินเดือนแบบง่ายๆ เพียงไม่กี่ขั้นตอน