สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ณ ตอนนี้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะลุหลักหลายพันต่อวัน ความต้องการที่จะตรวจหาเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นเหนือความคาดหมาย เพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนจำนวนมากที่ยังเฝ้ารอการตรวจโควิด-19 อยู่ ทาง สปสช.จึงได้ประสานงานกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการจัดทีมตรวจโควิด-19 เชิงรุก โดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ในการทำการตรวจโควิด-19
หลายๆ คนอาจมีคำถามว่าวิธีการตรวจโควิด-19 ด้วย Rapid Antigen test นั้นแตกต่างกับ RT-PCR test อย่างไร เพราะการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยนั้นมักจะใช้วิธี RT-PCR test เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ Rapid Antigen test ยังเป็นวิธีการใหม่ที่เรายังไม่ค่อยคุ้นเคย วันนี้เพื่อประโยชน์ของทุกๆ คน เราได้จับ RT-PCR test และ Rapid Antigen test มาเทียบกันแบบหมัดต่อหมัดว่าใครกันแน่ที่จะเป็นตัวจริงเรื่องตรวจโควิด-19
Rapid Antigen test คือ ชุดการตรวจเชื้อโควิด-19 อย่างง่าย และรวดเร็ว โดยวิธีการนี้จะเก็บตัวอย่างจากทางจมูกหรือจากลำคอมาตรวจหาโปรตีนของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ซึ่งผลของการตรวจจะแม่นยำก็ต่อเมื่อผู้ป่วยรับเชื้อมาแล้ว 5 -14 วัน หรือมีความเข้มข้นของเชื้อไวรัสในระดับที่สูงมากๆ หากอยู่ในระยะฟักตัว หรือเพิ่งได้รับเชื้อมาอาจตรวจไม่เจอ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มียี่ห้อชุดตรวจ Rapid Antigen Test ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว 24 ยี่ห้อ โดยประชาชนสามารถซื้อมาตรวจเองที่บ้านได้ 5 ยี่ห้อ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ก.ค. 64)
วิธีใช้ชุดตรวจ
- ทำความสะอาดพื้นผิวที่จะวางชุดตรวจด้วยแอลกอฮอล์
- ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดหรือใช้เจลล้างมือ เป็นเวลา 20 วินาที
- ตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ชุดตรวจให้ดี ห้ามมีรอยแตกหัก หรือเสียหายเด็ดขาด
- ฉีกซองชุดตรวจ และสำรวจวันหมดอายุที่หน้าซองด้วย
- ฉีกซองไม้ Swab จากด้านที่เป็นด้าม ป้องกันการปนเปื้อน และระหว่างที่ดึงไม้ Swab ออกจากซอง ห้ามจับให้เลยขีดที่กำหนดไว้ที่ด้าม
- เอาไม้ Swab แยงเข้าไปในโพรงจมูก ความลึก และวิธีในการแยงจะแตกต่างกันไปตามยี่ห้อของชุดตรวจ ดังนั้นต้องอ่านคำแนะนำการใช้ของแต่ละชุดตรวจให้ละเอียด
- จากนั้นนำไม้ Swab แหย่ลงไปในภาชนะบรรจุน้ำยาที่ให้มาพร้อมกับชุดตรวจ และบีบปลายหลอด เพื่อให้น้ำยาท่วมปลายสำลีไม้ Swab โดยหมุนมากกว่า 10 ครั้ง
- เมื่อหมุนไม้ Swab ครบแล้ว ให้เอาไม้ออกและ ปิดฝาภาชนะ
- นำน้ำยาที่อยู่ในภาชนะหยดลงไปในช่องวงกลมเล็กๆ บนแผ่นทดสอบ จับเวลาประมาณ 15-30 นาที แล้วแต่ยี่ห้อ ห้าม!! อ่านค่าเกินเวลาเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ค่าผิดพลาดได้
วิธีอ่านผลตรวจ
หากรอจนครบตามเวลาที่ชุดตรวจยี่ห้อนั้นๆ กำหนด ให้สังเกตที่ ตัวอักษร C และตัวอักษร T ที่อยู่บนแผ่นทดสอบ ว่ามีลักษณะใด ดังต่อไปนี้
- หากมีแค่ขีดเดียวตรงตัวอักษร C แปลว่า ผลตรวจเป็นลบ หรือไม่ติดเชื้อ
- หากมี 2 ขีดตรงตัวอักษร C และ แปลว่า ผลตรวจเป็นบวก หรือติดเชื้อ
- หากไม่มีขีดที่ตัว C เช่น ปรากฎแค่ตรง T หรือไม่มีขีดเลย แปลว่าผลตรวจใช้ไม่ได้ ควรตรวจหาเชื้อใหม่อีกครั้ง โดยทำตามคำแนะนำในคู่มืออย่างเคร่งครัด
หมายเหตุ
การตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Rapid antigen test นั้นต้องระวังเรื่องผลลวง เมื่อผลเป็นลบไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ แต่เชื้ออาจน้อย ต้องยืนยันผลด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2137781 หรือ ตรวจด้วยชุดตรวจ Rapid antigen test ซ้ำได้อีกครั้ง โดยเว้นระยะห่าง 3-5 วัน แต่หากมีอาการเข้าข่ายเสี่ยง สามารถตรวจซ้ำได้ทันที
Real-time PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) หรือ RT-PCR test คือ การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยดูจากสารพันธุกรรม RNA ของไวรัสที่ได้มาจากการจากเก็บสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบน ส่วนล่างของผู้สงสัยติดเชื้อ ซึ่งวิธีนี้เป็นตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่องค์กรอนามัยโลกแนะนำ มีความแม่นยำสูง สามารถตรวจจับเชื้อได้แม้มีความเข้มข้นของเชื้อในปริมาณที่น้อย และสามารถทราบผลการตรวจได้ภายใน 3 – 5 ชั่วโมง
วิธีการตรวจ
- เจ้าหน้าที่จะใช้ไม้ swab สอดเข้าทางโพรงจมูกหรือลำคอ ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วินาที เพื่อเก็บสารคัดหลั่งมาตรวจหาเชื้อไวรัส (Nasopharyngeal swab PCR)
- รอแจ้งผลตรวจภายใน 3-5 ชั่วโมง
เทียบ RT-PCR test Vs Rapid Antigen test วิธีไหนใช่สำหรับเรา
RT-PCR test | Rapid Antigen test | |
การตรวจและแปรผล | บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น | ประชาชนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ |
ตัวอย่างที่ใช้ตรวจ | สารคัดหลั่งจากจมูก หรือลำคอ | สารคัดหลั่งจากจมูก หรือลำคอ |
ระยะเวลาทราบผลตรวจ | ภายใน 3-5 ชั่วโมง | ภายใน 30 นาที |
ความแม่นยำ | สูงกว่า rapid antigen test | น้อยกว่า RT-PCR |
ค่าใช้จ่าย | สูง (ประมาณ 2,000 – 4800) | ต่ำ (ชุดละ ประมาณ 300-400 บาท ) |
ขอบคุณแหล่งข้อมูล : thematter.co, hfocus.org, pca.fda.moph.go.th, assets.publishing.service.gov.uk, mgronline.com, thairath.co.th, bbc.com, covid.gov.cz, memorialhealthcare.org, www.moh.gov.sg, theworldmedicalcenter.com, prachachat.net, facebook.com/Sumnakkaow.PRD, nhso.go.th, thairath.co.th