“บ้าน” เป็นอีกหนึ่งทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง และมีความเสี่ยงไม่ต่างจากทรัพย์สินประเภทอื่นๆ การทำ “ประกันภัย” ไว้ก็อาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้เราเบาใจ และสบายใจได้ทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับบ้านของเรา เปรียบเสมือนเป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันช่วยจัดการดูแลแทน ซึ่งจากข้อมูลของ คปภ.พบรูปแบบของประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างประเภทที่อยู่อาศัยหลักๆ มีอยู่ด้วย 2 แบบ คือ
การประกันอัคคีภัยเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นประกันบ้านที่ให้ความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย (ไม่รวมฐานราก) และทรัพย์สินภายใน ซึ่งประกันอัคคีภัยเพื่อที่อยู่อาศัยนั้นเป็นประกันภัยภาคบังคับที่ต้องทำหากยื่นเรื่องกู้สินเชื่อบ้าน เพราะตาม “พรบ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 มาตราที่ 29 กำหนดไว้ว่าในการที่ธนาคารจะให้ผู้ใดกู้ยืมเงินไป ธนาคารมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้เอาประกันภัย หรือคงให้มีการเอาประกันภัยไว้ซึ่งทรัพย์สินที่จำนำ หรือจำนองไว้ให้แก่ธนาคารเพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้ยืนนั้นจนเป็นที่พอใจแก่ธนาคาร” แต่ถ้าซื้อบ้านด้วยเงินสดก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเราเองว่าจะทำหรือไม่ทำ
รายละเอียดความคุ้มครองของประกันอัคคีภัยเพื่อที่อยู่อาศัย มีดังนี้
ภัยคุ้มครองพื้นฐานทั่วไป
- ไฟไหม้
- ความเสียหายจากการระเบิดทุกชนิด
- ฟ้าฝ่า
- ภัยจากการเฉี่ยว และหรือการชนของยานพาหนะหรือสัตว์พาหนะ
- ภัยจากอากาศยาน และหรือวัตถุที่ตกจากอากาศ
- ภัยจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากน้ำ เช่น การรั่วไหล หรือการล้นออกมาของน้ำ
ภัยคุ้มครองพื้นฐานที่เป็นภัยธรรมชาติ
- ภัยจากลมพายุ
- ภัยจากน้ำท่วม
- ภัยจากแผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด หรือคลื่นใต้น้ำ หรือสึนามิ
- ภัยจากลูกเห็บ
หมายเหตุ ในหมวด ภัยคุ้มครองพื้นฐานที่เป็นภัยธรรมชาติ บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงจากหรือทุกภัยรวมกันแล้วไม่เกิน 20,000 บาท/ปี
ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้าน จัดอยู่ในประเภทประกันภัยทรัพย์สิน (Property Insurance) หมวดการประกันภัยเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous Insurance) ซึ่งเป็นประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองหลากหลายไม่ใช่แค่เฉพาะตัวบ้าน แต่ยังคุ้มครองไปถึงเจ้าของที่อยู่อาศัยนั้นๆ ด้วย
รายละเอียดความคุ้มครองของการประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านแบ่งเป็น 5 หมวด ดังนี้
หมวดที่ 1 ความคุ้มครองต่ออาคาร
ชดเชยค่าสินไหมทดแทนให้ในกรณีที่อาคารได้รับความเสียหายจากภัยต่างๆ อาทิเช่น อัคคีภัย
หมวดที่ 2 ความคุ้มครองต่อทรัพย์สินในอาคาร
ชดเชยค่าสินไหมทดแทนให้ในกรณีที่ทรัพย์สินภายในอาคารที่ได้รับความเสียหายจากภัยต่างๆ อาทิเช่น การระเบิด
หมวดที่ 3 ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเช่าที่พักอาศัยชั่วคราวและการสูญเสียค่าเช่า
หมวดที่ 4 คุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
อาทิเช่น จ่ายค่ารักษาให้กับบุคลภายนอกซึ่งได้รับบาดเจ็บภายในที่อยู่อาศัยของเรา
หมวดที่ 5 ความคุ้มครองสำหรับเงินชดเชยการเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัย
จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ในกรณีที่เจ้าของบ้าน (ผู้เอาประกัน) ประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิตขณะที่อยู่ภายในบ้านที่ทำประกันภัยไว้
อ่านบทความเกี่ยวกับ ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้าน คลิก
เปรียบเทียบประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย vs ประกันภัยเจ้าบ้าน
หมายเหตุ การคำนวณเบี้ยประกันเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัท
ก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้งสิ่งที่แรกที่เราต้องคำนึงถึงคือสภาพความเสี่ยงภัย และความต้องการความคุ้มครอง ยกตัวอย่างเช่น บ้านของเราอยู่ใกล้กับสถานที่ที่มีโอกาสเกิดไฟไหม้ หรือระเบิดได้ง่าย เราก็อาจเลือกทำเป็นประกันอัคคีภัยเพื่อที่อยู่อาศัย เพราะจะได้รับความคุ้มครองในหมวดไฟไหม้ได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าการทำประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านซึ่งให้ความคุ้มครองที่หลากหลาย แต่อาจไม่ตอบโจทย์กับความเสี่ยงที่มี
ขอบคุณแหล่งข้อมูล :
oic.or.th, bot.or.th, bangkokinsurance.com, fpo.go.th, bot.or.thi, muangthaiinsurance.com, Money buffalo, Easyinsure, oic.or.th-miscellaneous, oic.or.th-fire-housing