“มรดก” คำที่ได้ยินเมื่อไหร่ก็หัวใจพองโต เพราะนั่นอาจหมายถึงความมั่งคั่งทางการเงินที่เรากำลังจะได้รับ ซึ่งทรัพย์มรดกมีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาทจะต้องเสียภาษีมรดกในอัตรา 5% หรือ 10% แต่รู้หรือไม่เงินที่ได้รับจากกรมธรรม์ประกันชีวิตเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตเป็นมรดกที่ไม่ต้องเสียภาษี
ทำไมเงินประกันชีวิตจึงไม่ต้องเสียภาษีมรดก?
ตอบ เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในขณะหรือภายหลังผู้เอาประกันเสียชีวิต ซึ่งได้รับการยกเว้นตามมาตรา 42(13) แห่งประมวลรัษฎากร
แล้วมรดกอะไรบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก?
- อสังหาริมทรัพย์
- หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- เงินฝากหรือเงินอื่นใดมีลักษณะอย่างเดียวกัน
- ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน
- ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Link) ต้องเสียภาษีมรดกไหม
ประกันชีวิตควบการลงทุน หรือยูนิตลิงค์ เป็นประกันที่
- ให้ความคุ้มครองในกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิต โดยบริษัทผู้รับประกันภัยจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ตามมูลค่าที่ตกลงไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งเงินส่วนนี้ไม่ต้องเสียภาษีมรดก เพราะเป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นในขณะหรือภายหลังผู้เอาประกันเสียชีวิต
- สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมที่บริษัทผู้รับประกันภัยคัดสรรมาให้ได้ และในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต บริษัทผู้รับประกันภัยต้องขายหน่วยลงทุนแล้วนำเงินที่ขายได้มาส่งมอบให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งเงินส่วนนี้จะต้องเสียภาษีมรดก เพราะหน่วยลงทุนตามกรมธรรม์ (ก่อนที่จะขายเปลี่ยนเป็นเงิน) เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เอาประกันอยู่แล้ว มิใช้เป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นหลังจากผู้เอาประกันเสียชีวิต
เงินที่ได้รับจากประกันชีวิตกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิต นอกจากจะไม่ต้องเสียภาษีมรดกแล้ว กรมธรรม์ประกันชีวิตยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้อีกด้วย โดยประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา/ตลอดชีพ/สะสมทรัพย์สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท และประกันชีวิตแบบบำนาญลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200,000 บาท ซึ่งการที่จะทำประกันชีวิตเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีนั้นเราจำเป็นต้องศึกษาเงื่อนไข และรายละเอียดให้ดีก่อนตัดสินใจ เพราะประกันชีวิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีข้อผูกผันในระยะยาว
ค้นหาประกันลดหย่อนภาษีที่ใช่ เพียงปลายนิ้ว
อ่านบทความ ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน : ครบทั้งความคุ้มครอง และความคุ้มค่า
ขอบคุณแหล่งข้อมูล : oic.or.th, rd.go.th, itax.in.th