เมื่อไหร่จะได้เงินคืนภาษี? ยื่นไปตั้งนานแล้วไม่เห็นมีสัญญาณการตอบกลับใดๆ? รู้ไหมว่ารอนานๆ มันก็อาจจะบั่นทอนหัวใจ นี่อาจเป็นความในใจที่ผู้ยื่นภาษีส่วนใหญ่อยากจะตะโกนดังๆ บอกต่อไปยังกรมสรรพากร
“เงินคืนภาษี” เป็นสิทธิตามประมวลรัษฎากรที่ผู้ยื่นภาษีสามารถขอคืนได้ หากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างปีภาษีไว้มากกว่าจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษี
เงินคืนภาษี = มูลค่าที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย – เงินที่ต้องเสียภาษี
ยกตัวอย่างเช่น นาย noon ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 3,000 บาท และมีภาษีที่ต้องชำระ 1,500 ในกรณีนี้นาย noon สามารถทำเรื่องขอคืนภาษีได้ 1,500 บาท
เมื่อเรามีสิทธิสามารถขอคืนเงินภาษีได้ สิ่งที่คาดหวังต่อมาคืออยากให้เงินก้อนนี้เข้ามาอยู่ในกระเป๋าของเราให้เร็วที่สุด ซึ่งปกติแล้วสรรพากรจะดำเนินการคืนเงินภาษีให้ภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่ยื่นแบบแสดงรายได้ ยกเว้นในกรณีที่แบบยื่นภาษีมีปัญหา หรือต้องการเอกสารเพิ่มเติมเพื่อตรวจก็อาจจะกินระยะเวลานานกว่าปกติ ถ้าไม่อยากให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น เรามีทริคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยให้ผู้ยื่นภาษีได้รับเงินคืนภาษีเร็วขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง
ทริคที่ 1 ยื่นไว
หากมัวรอเวลาจนถึงวันสุดท้ายแล้วค่อยยื่นภาษีก็อาจทำให้ได้รับเงินคืนภาษีล่าช้า เพราะทางสรรพากรจะมีรอบในการอนุมัติเงินคืนภาษี ดังนั้นยิ่งรีบยื่นภาษีไว้แต่เนิ่นๆ เอกสารของเราก็จะถูกพิจารณาเร็ว และไม่ติปัญหาอะไรก็อาจทำให้ได้รับเงินคืนภาษีเร็วไปด้วย
หากใครที่ยื่นภาษีเรียบร้อยแล้ว และมีเงินคืนภาษีสามารถตรวจสอบสถานะข้อมูลการขอคืนภาษี ภ.ง.ด.90/ภ.ง.ด.91 ได้ที่ https://www.rd.go.th/27942.html
หมายเหตุ กรณียื่นภาษีแบบกระดาษสามารถตรวจสอบสถานะข้อมูลขอคืนภาษีได้ภายหลังจากวันที่ยื่นแบบฯ แล้ว 1 วัน
ทริคที่ 2 เตรียมเอกสารให้พร้อม
เมื่อทำการยื่นภาษีเสร็จแล้ว และสรรพากรตรวจสอบแล้วว่าไม่มีอะไรผิดปกติก็จะได้รับเงินคืนภาษีทันที แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่สรรพากรต้องการหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อทำการตรวจสอบ เราก็ต้องพร้อมส่งให้ทันที เพราะยิ่งประวิงเวลานานเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้รับเงินคืนภาษีช้าขึ้นเท่านั้น
เอกสารที่ควรเตรียมไว้
- เอกสารหลักฐานแสดงการมีรายได้ หรือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ที่ได้รับจากนายจ้าง ซึ่งใบ 50 ทวิจะมีรายละเอียดสำคัญๆ อาทิเช่น รายได้รวม เงินสมทบประกันสังคมทั้งหมด เป็นต้น
- หลักฐานค่าลดหย่อนกลุ่มต่างๆ https://noon.in.th/blog/checklist-doc-should-have-before-tax-filing/อาทิเช่น
- หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ล.ย.03)
- หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (ล.ย.04)
- หนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ (ล.ย.04-1)
- หลักฐานการชำระเงินของโครงการ “ช้อปดีมีคืน”
- หนังสือรับรองการซื้อกองทุน SSF RMF สามารถขอได้จาก บลจ.
ทริคที่ 3 ยื่นภาษีออนไลน์
การยื่นภาษีออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร หรือแอปฯ Rd Smart Tax จะช่วยลดเวลาในการนำส่งเอกสารส่งผลให้เจ้าหน้าของส่วนกลางสามารถตรวจสอบความถูกต้องของแบบแสดงรายการยื่นภาษี (ภ.ง.ด.90/91) ได้ทันท่วงที และอนุมัติเงินคืนภาษีได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
ทริคที่ 4 เลือกรับเงินคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์
ปัจจุบันทางสรรพากรมีช่องทางการขอรับเงินคืนภาษีด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่
- พร้อมเพย์ เอกสารประกอบการรับเงินคืนภาษี (เลขประจำตัวประชาชน)
- บัญชีเงินฝากธนาคารธ.กรุงไทย/ธกส.
- e-Money/ NEXT Money (e-Wallet)
แต่ถ้าอยากได้รับเงินคืนภาษีแบบสะดวกสบาย และรวดเร็ว เราแนะนำให้เลือกรับผ่านช่องทาง “พร้อมเพย์” เพราะหากเลือกรับผ่านบัญชีเงินฝากธ.กรุงไทย/ธกส. หรือ e-Money/ NEXT Money (e-Wallet) เราจะต้องนำหนังสือแจ้งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.21) ที่ได้รับจากกรมสรรพากรไปยังธนาคารเพื่อติดต่อขอทำเรื่องรับเงินภาษีคืนอาจทำให้เสียเวลาไปมากกว่าที่ควรจะเป็น
หมายเหตุ หากสรรพากรไม่พบรายชื่อพร้อมเพย์ของเรา ทางเจ้าหน้าที่จะส่งหนังสือแจ้งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.21) มาให้เรา และให้นำหนังสือไปยื่นแก่ธนาคารเพื่อขอรับเงินคืนภาษี
ขอบคุณแหล่งข้อมูล itax.in.th, money.kapook.com, krungsri.com, dlo.co.th