จากบทความที่แล้วเราพาทุกคนไปทำรู้จักกับสิทธิประกันสุขภาพพื้นฐานที่ช่วยคุ้มครองค่าใช้จ่ายจากการรักษาจากอาการติดเชื้อโควิด-19 อย่างสิทธิ UCEP COVID -19 บัตรทอง สิทธิข้าราชการ และประกันสังคมกันไปแล้ว ซึ่งอาจทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าหากไม่มีสิทธิดังกล่าว หรือมีความต้องการทางด้านการรักษาที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขความคุ้มครองของสิทธิที่รัฐให้ เราจะต้องทำอย่างไร เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าค่าใช้จ่ายจากการรักษาอาการป่วยติดเชื้อโควิด19 นั้นค่อนข้างสูง หากต้องจ่ายเองอาจทำให้เงินสำรองที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอ
สำหรับใครที่กำลังกังวลในเรื่องนี้อยู่ไม่ต้องหวั่นใจไป เพราะยังมีการประกันสุขภาพที่เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายจากการรักษาอาการป่วยติดเชื้อโควิด19 ได้เช่นกัน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจ และเห็นภาพได้ง่ายชัดเจนเราขอแบ่งอธิบายเป็นกรณี ดังนี้
กรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาจากการเจ็บป่วยด้วยเชื้อโควิด-19 ประกันสุขภาพแบบไหนคุ้มครองบ้าง
ตอบ
ประกันสุขภาพส่วนบุคคลแบบเดี่ยว
ประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคลแบบเดี่ยว คือ หลักประกันสุขภาพทางเลือกที่เราสามารถจ่ายเงินเพื่อลงทุนซื้อความคุ้มครองทางสุขภาพเพิ่มเติมให้กับชีวิตของเราได้แบบปีต่อ โดยสามารถแบ่งผลประโยชน์ความคุ้มครองออกเป็น 3 กลุ่มได้ ดังนี้
1.ผลประโยชน์ความคุ้มครองผู้ป่วยภายใน (IPD) อาทิเช่น
- ค่าห้องและค่าอาหาร
- ค่าบริการทั่วไป
- ค่ายา
- ค่าแพทย์เยี่ยม
- ค่าผ่าตัด
- ค่ารถพยาบาลและอุปกรณ์อื่นๆ
2.ผลประโยชน์ความคุ้มครองผู้ป่วยนอก (OPD)
- ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาสำหรับกรณีที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เช่น ค่าแพทย์และค่ายา เป็นต้น
3.ผลประโยชน์ความคุ้มครองเพิ่มเติมอื่นๆ ที่เราสามารถซื้อเพื่อขยายความคุ้มครองได้ ดังนี้
- การคลอดบุตร คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
- การรักษาฟัน
- พยาบาลพิเศษ ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายของพยาบาลที่มีความจำเป็นโดยคำสั่งของแพทย์
- การรักษาการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง
ประกันสุขภาพพ่วงประกันชีวิต (สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ)
สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายกรมธรรม์ (Riders) คือการขยายความคุ้มครอง หรือเพิ่มผลประโยชน์ความคุ้มครองนอกเหนือจากความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันชีวิตตัวหลักที่เรามี โดยสัญญาเพิ่มสามารถแบ่งได้ 4 รูปแบบหลักๆ ดังนี้
- สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายเพื่อคุ้มครอบอุบัติเหตุ
- สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายการประกันสุขภาพ
- สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายการให้สิทธิในการยกเว้นไม่ต้องชำระเบี้ยประกันภัย
- สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายการประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา
สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายการประกันสุขภาพ คือ สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายกรมธรรม์ประกันชีวิตที่เน้นขยายความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเนื่องจากการบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วยเป็นหลักแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- สัญญาเพิ่มเติมชดเชยรายวันสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล (HB= Hospital Benefit) หรือสัญญาเพิ่มเติมแบบอื่นๆ ที่มีรายละเอียดความคุ้มครองในลักษณะเดียวกัน โดยผู้เอาประกันจะได้รับเงินค่าชดเชยค่ารักษาพยาบาลตามจำนวนวันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกรณีที่เป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาล เนื่องจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
- สัญญาเพิ่มเติมค่ารักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน (HS = Hospital & Surgical) หรือสัญญาเพิ่มเติมแบบอื่นๆ ที่มีรายละเอียดความคุ้มครองในลักษณะเดียวกัน โดยทั่วไปจะคุ้มครองค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน (IPD) อาทิเช่น ค่าห้องและค่าอาหาร ค่าแพทย์เยี่ยม ค่าผ่าตัด ค่ารถพยาบาลและอุปกรณ์อื่นๆ เป็นต้น
ประกันภัยโควิด-19
ประกันภัยโควิด จัดเป็นประกันวินาศภัยที่ถูกออกมาเฉพาะเพื่อรองรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ใน ประเทศไทย ซึ่งผลประโยชน์ความคุ้มครองส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะดังนี้
- ประกันภัยโควิด-19 “เจอ จ่าย จบ” เป็นประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองในกรณีที่ผู้เอาประกันถูกตรวจเจอว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นครั้งแรก โดยบริษัทประกันจะจ่ายค่าชดเชยให้เป็นเงินก้อนตามจำนวนที่ตกลงไว้ในกรมธรรม์ และอาจความมีความคุ้มครองอื่นๆ เพิ่มเข้ามาตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกัน
- ประกันภัยโควิด-19 “เจอ รักษา จบ” เป็นประกันภัยที่เน้นให้ความคุ้มครองในกรณีที่ผู้เอาประกันต้องเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลอันเนื่องมาติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยบริษัทประกันจะช่วยดูแลเรื่องค่ารักษาตามวงเงินสูงสุดที่ตกลงไว้ในกรมธรรม์ และอาจความมีความคุ้มครองอื่นๆ เพิ่มเข้ามาตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกัน
กรณีที่ขาดแคลนรายได้เมื่อเข้ารักษาด้วยเชื้อเชื้อโควิด-19 ประกันสุขภาพแบบไหนคุ้มครองบ้าง
ตอบ สัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายวันสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล (HB= Hospital Benefit) หรือสัญญาเพิ่มเติมแบบอื่นๆ ที่มีรายละเอียดความคุ้มครองในลักษณะเดียวกัน การทำประกันสุขภาพส่วนบุคคลแบบเดี่ยว หรือประกันภัยโควิด-19 ที่มีรายละเอียดความคุ้มครองในส่วนของการชดเชยรายได้ก็สามารถช่วยให้เราสบายใจเรื่องขาดรายได้ในช่วงที่ต้องพักรักษาตัวได้เช่นกัน
สรุป
ประกันสุขภาพรายบุคคล ประกันกลุ่ม และสัญญาเพิ่มเติม ต่างก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาจากทั้งกรณีที่เจ็บป่วยด้วยเชื้อโควิด -19 หรือการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากอย่างอื่น ซึ่งก็นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับคนที่ไม่สิทธิ UCEP COVID-19 ประกันสังคม สิทธิบัตรทอง หรือสิทธิข้าราชการ หรือมีความต้องการทางด้านการรักษาที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขความคุ้มครองของสิทธิที่รัฐให้
อย่างไรก็ตามเราอยากให้ทุกคนศึกษารายละเอียดความคุ้มครองของแต่แผนประกันสุขภาพให้ดี โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลารอคอย เพราะหากเจ็บป่วยก่อนที่ประกันจะเริ่มคุ้มครองความตั้งใจที่หวังไว้ก็อาจกลายเป็นศูนย์
ขอบคุณข้อมูลจาก
คู่มือปฏิบัติงานสำหรับนายหน้าประกันชีวิต หน้า 3-14, หนังสือการวางแผนการประกันภัย ชุดที่ 3 ,oceanlifepage, insurethink, tgia, philliplife, oic, aia, campaign.generali, bangkoklife, azay.co.th