1 นาที

6 เหตุผลที่คนมีบ้านควรทำประกัน

แชร์

“แค่ค่าผ่อนบ้าน ค่าดาวน์บ้าน ก็จะตายอยู่แล้ว ทำไมใครๆ ก็ยังแนะนำให้เสียเงินซื้อประกันเพิ่มอีก” ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ประกันต่างๆ เป็นเหมือนเครื่องมือช่วยคุ้มครองตัวเรา และทรัพย์สินของเราจากภัยร้ายที่ไม่คาดฝัน ซึ่งคาดเดาได้ยากว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ นอกจากเหตุผลข้อนี้ก็ยังเหตุผลอีก 6 ข้อด้วยกันที่จะช่วยตอกย้ำว่าทำไมคนมีบ้านจึงควรทำประกันไว้

6 เหตุผลที่คนมีบ้านควรทำประกัน 


ประกัน 3 ประเภทที่เราอยากแนะนำให้คนที่กำลังตัดสินใจซื้อบ้าน หรือมีศักดิ์เป็นเจ้าของบ้านแล้วควรค่าที่จะมีติดติดตัว หรือติดบ้านไว้ได้แก่ ประกันชีวิต ประกันอัคคีภัย และประกันภัยเจ้าบ้าน แล้วทำไมถึงต้องเป็นประกัน 3 ประเภทนี้ ไม่ทำไม่ได้หรอ? เพื่อคลายความสงสัยที่มี เราได้ลิสต์เหตุผลดีๆ มาช่วยชี้แจ้งแถลงไขแล้วจะรู้ว่าทำไมคนมีบ้านจึงควรทำประกัน 


1.ธนาคารร้องขอ 


หากต้องการขอสินเชื่อบ้าน ทางธนาคารจะขอให้ทำประกันอัคคีภัยไว้ เนื่องจากประกันอัคคีภัยเป็นประกันภัยภาคบังคับที่ต้องทำหากยื่นเรื่องกู้สินเชื่อบ้าน เพราะตาม “พรบ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 มาตราที่ 29 กำหนดไว้ว่าในการที่ธนาคารจะให้ผู้ใดกู้ยืมเงินไป ธนาคารมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้เอาประกันภัย หรือคงให้มีการเอาประกันภัยไว้ซึ่งทรัพย์สินที่จำนำ หรือจำนองไว้ให้แก่ธนาคารเพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้ยืนนั้นจนเป็นที่พอใจแก่ธนาคาร” แต่ถ้าซื้อบ้านด้วยเงินสดก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเราเองว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้ตามแต่สะดวก 

 

2.ประกันอัคคีภัยช่วยป้องกันไม่ให้ค่าใช้จ่าย หรือค่าซ่อมจากอันตรายต่างๆ ตกมาถึงเรา 


ประกันอัคคีภัยคืออีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่เราควรมีติดบ้านไว้เสมอ เพราะจะช่วยคุ้มครองเราจากค่าซ่อมอันมหาศาลจากภัยร้ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าซ่อมแซมบ้านจากเหตุไฟไหม้ 


อ่านบทความเกี่ยวกับ ประกันอัคคีภัย 


3.ไม่ต้องกังวลหากโดนบริษัทประกันผิดนัด 


เราอาจเคยได้อ่านข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่บริษัทประกันผิดนัดชำระค่าสินไหมทดแทนกันมาบ่อยจนชิน แต่ในกรณีของประกันอัคคีภัยไม่ต้องกังวลไป เพราะทางคปภ.เขาคิดมาให้แล้ว หากบริษัทประกันผิดนัดชำระจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน+ดอกเบี้ยในอัตราร้ายละ 15 ต่อปีให้กับเรา มาตรการนี้อาจทำให้บริษัทไม่กล้าผิดนัดเรา หรือต่อให้ผิดนัด เราก็จะได้ค่าเสียเวลามาเป็นการตอบแทน 


4.ประกันภัยเจ้าบ้านช่วยออกค่าเช่าที่พักชั่วคราวให้ 


ในกรณีที่บ้านของเราได้รับความเสียหายจากภัยร้ายจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ทางบริษัทประกันจะช่วยออกค่าเช่าที่พัก (ชั่วคราว) ให้ 300 บาท/วัน สูงสุด 30 วัน ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับที่อยู่อาศัยสำรอง 


5.เบี้ยประกันถูก 


หลายคนๆ มักกังวลว่าเบี้ยประกันอัคคีภัย และประกันภัยเจ้าบ้านจะแพงจนจ่ายไม่ไหว ต้องขอเถียงเลยว่าไม่จริง เพราะว่าเบี้ยนั้นถูกมาก ยกตัวอย่างเช่น บ้านของเรามูลค่า 1,000,000 บาท เราจึงเลือกทำกรมธรรม์ที่มีทุนประกันเท่ากับ 1,000,000 บาทเท่ากัน โดยปกติถ้าเปรียบเทียบกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปหากทุนประกันสูงขนาดนี้ เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายอย่างต่ำก็เป็นหมื่นต่อปี แต่เบี้ยของประกันอัคคีภัย หรือประกันภัยเจ้าบ้านนั้นแค่หลักร้อยจนถึงหลักพันบาทต่อปีเอง รับรองว่าไม่ระคายกระเป๋าสตางค์แน่นอน 


6.ประกันชีวิตช่วยป้องกันไม่ให้ภาระเรื่องบ้านตกถึงคนข้างหลัง 


ในกรณีที่เราเป็นเสาหลักของครอบครัว และจากไปอย่างกะทันหัน ภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านที่เหลืออยู่คนข้างหลังก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบไปทั้งหมด หากแบกไม่ไหวผลลัพธ์ก็คือต้องขายทอดตลาด 


ความตั้งใจที่จะส่งต่อบ้านหลังนี้ให้ลูกหลานก็คงต้องสลายไป แต่ถ้าทำประกันชีวิตไว้ก็อาจเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้รักษาบ้านหลังนี้ไว้ได้ เนื่องจากบริษัทประกันจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับผู้รับผลประโยชน์ในกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตตรงตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ แต่จะช่วยเบาภาระเรื่องค่าบ้านได้แค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับทุนประกันที่ทำ 



เหตุผลที่ยกมาทั้งหมดจะช่วยให้คนที่มีบ้านอยู่แล้ว หรือกำลังคิดที่จะซื้อบ้านได้เข้าใจถึงความสำคัญของการทำประกันได้มากน้อยแค่ไหนผมก็ไม่อาจรู้ได้ แต่สำหรับผม ผมเชื่อมาเสมอว่าการทำประกันให้บ้านนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่หลักประกันให้กับตัวผมเพียงคนเดียว แต่ยังรวมถึงคนในครอบครัวของผมด้วย 



ขอบคุณแหล่งข้อมูล : oic.or.th, oic.or.th/ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยแบบประหยัด

แชร์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สร้างความสัมพันธ์ ขยายโอกาสในการขายให้ยั่งยืนด้วย 5 เครื่องมือนี้

สร้างความสัมพันธ์ ขยายโอกาสในการขายให้ยั่งยืนด้วย 5 เครื่องมือนี้

5 ข้อควรรู้ก่อนเคลมกระเป๋าเดินทาง

การเตรียมตัวข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการเคลมกระเป๋าเดินทางจึงถือเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ช่วยให้คุณรับมือกับเรื่องไม่คาดฝันนี้ได้อย่างไม่ตื่นตระหนดตกใจจนเกินไป เพื่อให้ทุกการเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น บทความนี้จะแนะนำ 5 ข้อควรรู้ก่อนเคลมกระเป๋าเดินทาง เพื่อช่วยให้คุณเคลมได้อย่างถูกต้องและไม่เสียผลประโยชน์ใดไปโดยไม่รู้ตัว