ประกันชีวิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยวางแผนทางการเงินในหลายๆรูปแบบ เพื่อเป้าหมายทางการเงินด้านต่างๆ ในปัจจุบันมีบริษัทประกันหลากหลายบริษัท แบบประกันหลายๆแบบ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะเลือกประกันแบบไหนดีที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของเราตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการ ในบทความนี้จะกล่าวถึงว่าประกันชีวิตนั้นมีกี่แบบ แต่ละแบบเหมาะกับใคร มีข้อสังเกตอะไรบ้าง รวมถึงเงื่อนไขควรรู้ก่อนการตัดสินใจทำประกันชีวิต
เรื่องสำคัญต้องรู้ก่อนเลือกซื้อประกันชีวิต
1.ประกันชีวิตในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 5 แบบดังนี้
- ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole life)
ประกันแบบตลอดชีพนี้เป็นแบบประกันที่มีระยะเวลาการคุ้มครองชีวิตจนถึงอายุบั้นปลายชีวิต เช่น 85 ปี, 90 ปี หรือ 99 ปี เมื่ออยู่จนครบอายุตามที่กำหนดก็จะได้รับเงินคืนตามจำนวนที่กรมธรรม์กำหนดไว้ แต่ถ้าผู้เอาประกันเสียชีวิตก่อนครบสัญญา ผู้รับผลประโยชน์ก็จะได้รับค่าสินไหมตามทุนประกันที่ทำไว้ โดยระยะเวลาการส่งเบี้ยอาจจะไม่ต้องส่งเท่าระยะประกัน เช่น ส่งเบี้ย 10 ปี, 15 ปี, 20 ปี แต่จะคุ้มครองจนถึงอายุตามที่สัญญากำหนด
เหมาะกับใคร : ประกันแบบตลอดชีพนี้เหมาะกับการที่เราวางแผนจะส่งต่อมรดกให้ลูกหลาน
ข้อสังเกต : ไม่เหมาะกับการวางแผนการเงินระยะสั้น พูดง่ายๆคือใช้คุ้มครองชีวิตในระยะยาวเพื่อส่งต่อเท่านั้น
- ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term)
ประกันแบบชั่วระยะเวลานี้ เป็นแบบประกันเบี้ยต่อทุนประกันถูกที่สุด เบี้ยถูกแต่ความคุ้มครองสูงที่สุดเมื่อเทียบกับแบบอื่นๆ
เหมาะกับใคร : เหมาะสำหรับการวางแผนความคุ้มครองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่นวางแผนคุ้มครองตอนที่ลูกยังเรียนไม่จบเป็นเวลา 10 ปี เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมาลูกก็จะได้รับค่าสินไหมตามทุนประกันที่ทำไว้
ข้อสังเกต : ถ้าไม่มีการเคลมหรือผู้เอาประกันไม่มีการเสียชีวิตตามระยะเวลาการรับประกัน ก็จะไม่มีเงินคืน พูดง่ายๆคือเป็นเบี้ยจ่ายทิ้งถ้าไม่มีการเคลม
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment)
ประกันแบบสะสมทรัพย์นี้เป็นแบบประกันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองชีวิตควบคู่ไปกับบริหารเงินออม เป็นแบบประกันที่ได้รับเงินคืนมากกว่าเบี้ยที่จ่ายไป ในระยะเวลาไม่นานเท่าแบบตลอดชีพ อาจมีเงินคืนเป็นรายงวดเช่นทุกปี ทุก3ปี หรือ 5ปี และรับเงินก้อนเมื่ออยู่ครบสัญญา พร้อมทั้งมีความคุ้มครองกรณีผู้เอาประกันเสียชีวิตก่อนครบสัญญา แต่ทุนประกันเมื่อเทียบกับเบี้ยนั้นจะไม่เยอะเหมือนสองแบบแรก และคำนวณได้เลยว่าเมื่ออยู่ครบสัญญาเราจะได้เงินมาทั้งหมดเท่าไหร่ ได้รับเงินคืนปีไหนบ้างปีละเท่าไหร่
เหมาะกับใคร : เหมาะสำหรับคนที่เน้นเรื่องเงินคืนที่แน่นอนมากกว่าค่าเบี้ยประกันที่จ่ายไป คำนวณได้ว่าเมื่อครบสัญญาเราจะได้เงินเท่าไหร่
ข้อสังเกต : ไม่ควรนำมาวางแผนด้านความคุ้มครองหรือส่งต่อมรดกเนื่องจากทุนประกันจะไม่สูงเมื่อเทียบกับแบบอื่นๆ และมีข้อควรระวังอีกอย่างคือไม่ควรพ่วงสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพ (ประกันสุขภาพ) กับประกันแบบสะสมทรัพย์นี้เนื่องจากระยะสัญญาหลักสั้นและจำกัด เมื่อหมดอายุสัญญาหลักแล้วประกันสุขภาพที่เราทำจะสิ้นสุดด้วย และเมื่อเราจะทำใหม่อาจจะต้องตรวจร่างกายและต้องพิจารณาใหม่ซึ่งถ้าตอนนั้นเรามีปัญหาด้านสุขภาพเราอาจโดนยกเว้นหรือไม่รับทำประกันสุขภาพได้
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity)
ประกันแบบบำนาญนี้เป็นแบบประกันที่ใช้สำหรับวางแผนการมีเงินใช้หลังเกษียณ (อายุ 55 ปี หรือ 60 ปี) จะมีเงินคืนให้ทุกปีหลังเกษียณตามอายุที่กำหนด โดยจะมีการส่งเบี้ยประกันตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น 10 ปี, 15 ปี, หรือชำระจนครบอายุเกษียณตามแบบประกัน (55 ปี หรือ 60 ปี) หลังจากนั้นเมื่อเราอายุครบเกษียณแล้ว ก็จะได้รับเงินคืนทุกปีตามแต่ละแบบประกันจนถึงอายุที่กำหนด (85 ปี หรือ 90 ปี) แต่ถ้าผู้เอาประกันเสียชีวิตก่อนก็จะมีทุนประกันลดหย่อนตามจำนวนปี ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละแบบประกัน
เหมาะกับใคร : เหมาะกับผู้ที่วางแผนการมีเงินคืนทุกปีหลังเกษียณ ไม่ต้องเป็นภาระลูกหลาน
ข้อสังเกต : ถ้าเราทำตั้งแต่อายุยังน้อยเบี้ยที่จ่ายจะถูกกว่าทำตอนอายุเยอะๆ แถมยังลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจากประกันชีวิตแบบอื่นๆได้สูงสุดถึง 200,000 บาทอีกด้วย แต่เป็นการวางแผนระยะยาว เราจะได้เงินคืนก็หลังเกษียณไปแล้วเท่านั้น
- ประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ (Unit Linked)
แบบประกันที่มีทั้งความคุ้มครองและการลงทุน ในส่วนการลงทุนผู้เอาประกันสามารถเป็นผู้เลือกกองทุนที่จะลงทุนเองได้ ซึ่งจะมีระดับความเสี่ยงต่างๆกันไปตามแต่ละกองทุน จุดเด่นคือ ความคุ้มครองสูง คิดเป็นจำนวนเท่าของเบี้ยประกัน บางแห่งให้ความคุ้มครองสูงถึง 100 เท่าของเบี้ยที่จ่ายแต่ละปี และยังมีโอกาสทำกำไรจากการลงทุนในกองทุนด้วย แต่ในทางกลับกันก็มีโอกาสขาดทุนด้วยเช่นกัน
เหมาะกับใคร : เหมาะกับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองสูงๆ และมีโอกาสทำกำไรจากการลงทุน
ข้อสังเกต : มีนำเงินบางส่วนไปลงทุนกับกองทุนดังนั้นจึงมีโอกาสขาดทุนด้วย
เมื่อเราทราบถึงประกันชีวิตทั้ง 5 แบบว่าเหมาะกับใครและมีข้อสังเกตอย่างไรแล้ว น่าจะพอทราบแล้วว่าเราจะเลือกทำประกันแบบไหน ต่อไปเรามาดูเงื่อนไขที่ควรรู้ก่อนทำประกันชีวิตว่ามีอะไรบ้าง
2.ความพร้อมในการทำประกัน
ก่อนตัดสินใจทำประกันชีวิตเราควรดูความพร้อมของเราด้วยว่าเรามีความสามารถจ่ายเงินให้ประกันปีละเท่าไหร่
3.สุขภาพของเราก่อนการทำประกัน
เนื่องจากบริษัทประกันจะพิจารณาเรื่องสุขภาพของเราก่อนการรับทำประกันด้วย ในบางกรณีบริษัทประกันอาจให้เราตรวจร่างกายก่อน และถ้าเรามีปัญหาสุขภาพหรือมีโรคประจำตัว บริษัทประกันอาจจะให้เราเพิ่มเบี้ย หรือยกเว้นโรคที่เราเป็น (ในกรณีประกันสุขภาพ) หรืออาจไม่รับทำประกันเลย ดังนั้นการทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพควรทำตั้งแต่สุขภาพยังดีอยู่
4.ข้อยกเว้นบริษัทประกันจะไม่จ่ายค่าสินไหมในกรณีไหนบ้าง
โดยปกติแล้วเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตบริษัทต้องจ่ายค่าสินไหมตามทุนประกันให้กับผู้รับผลประโยชน์ แต่จะยกเว้นใน 2 กรณีดังนี้
- ผู้เอาประกันฆ่าตัวตายภายใน 1 ปีนับแต่วันทำสัญญา
- ผู้เอาประกันถูกผู้รับผลประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
จากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งสำคัญที่ควรรู้ก่อนการตัดสินใจซื้อประกันชีวิตแต่ละฉบับ ประกันชีวิตเป็นสัญญาระยะยาว ถ้าทำไปแล้วจะมีสัญญาผูกพันทันทีและในกรณีที่จะยกเลิกหรือเวนคืนกรมธรรม์นั้นเราอาจจะขาดทุนได้ เราจึงควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดให้ดีก่อนตัดสินใจทำ เพื่อที่จะให้ประกันชีวิตแต่ละกรมธรรม์ที่เราซื้อนั้นจะตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการได้ แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีแบบประกันชีวิตให้เลือกเป็นจำนวนมากจนหัวจะปวด การที่ต้องมานั่งดู หรือนั่งศึกษาทีละฉบับ แล้วค่อยทดไว้ใน excel เพื่อเอาเปรียบเทียบกันอีกทีว่าแบบประกันชีวิตอันไหนตอบโจทย์ที่สุดสำหรับเราก็อาจทำให้เสียเวลาไปเป็นวันๆ ได้
แต่เรื่องยุ่งยากเหล่านี้จะหายไป เพราะ noon.in.th ผู้ช่วยคนสำคัญของมือใหม่หัดทำประกันจะช่วยให้ทุกคนสามารถค้นหา และเปรียบเทียบแบบประกันที่ใช่ได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที ชอบทุนเท่าไหร่ สะดวกจ่ายเบี้ยที่เท่าไหร่ มีไลฟ์สไตล์แบบไหน noon ก็ช่วยให้เจอแบบประกันที่ใช่ได้อย่างง่ายดาย และไม่ซับซ้อน ตอบโจทย์ ตรงจุด เข้าใจทุกไลฟ์
เลือกประกันชีวิตที่ใช่ จากเบี้ยที่ชอบ