3 นาที

3 แนวคิดเลือกทุนประกันชีวิตที่เหมาะกับคุณ

แชร์

ในทุกครั้ง เมื่อเราจะต้องตัดสินใจซื้อประกันชีวิต หนึ่งในคำถามที่หลายคนอาจจะยังคิดไม่ตกก็คือ เราควรจะเลือก “จำนวนเงินเอาประกันภัย” หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “ทุนประกันชีวิต” ไว้เท่าไหร่กันดี? ถึงจะเหมาะสมและเพียงพอตามที่เราควรจะต้องมีจริง ๆ แบบไม่มากเกินไปจนกลายเป็นภาระในการชำระเบี้ย หรือไม่น้อยเกินไปจนกลายเป็นขาดความคุ้มครองที่จำเป็น

แม้ว่าหลายต่อหลายครั้ง ตัวแทนหรือนายหน้าที่มานำเสนอแบบประกันชีวิตให้กับเรา ก็อาจจะช่วยให้คำแนะนำได้บ้างว่า ทุนประกันชีวิตเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม แต่ในบางครั้งหากเราต้องการอยากที่จะคิดและคำนวณด้วยตัวเอง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการวางแผนเพื่อปกป้องความมั่งคั่งที่เราได้สะสมมา ให้สอดคล้องกับแผนการเงินอื่น ๆ ด้วยนั้น จะมีสักกี่วิธีกันที่จะคำนวณตัวเลขออกมาว่าเท่าไหร่ ทุนประกันชีวิตถึงจะเรียกว่า “พอดี”

อันที่จริงแล้ว ตามหลักการวางแผนการเงินด้านการประกันภัยที่ใช้กันโดยนักวางแผนการเงินทั่วโลก จะมีมุมมองหลัก ๆ อยู่ด้วยกัน 3 แนวคิด ที่ใช้คำนวณหาจำนวนเงินเอาประกันภัยของการทำประกันชีวิตที่เหมาะสมและพอดีได้ โดยแต่ละแนวคิดล้วนมีมุมมองต่อความเสี่ยงภัยของชีวิตและแนวทางการจัดการความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป จึงขอถือโอกาสในบทความนี้ อธิบายแนวคิดคร่าว ๆ ของแต่ละแนวคิด เพื่อให้สามารถเข้าใจในหลักการคำนวณได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

3-step-sum-assured
1.แนวคิดเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจของบุคคล (Human Life Value Approach)
สำหรับแนวคิดนี้ เกิดขึ้นจาก ดร.โซโลมอน เอส เฮิร์บเนอร์ (Solomon S. Huebner) ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ด้านการประกันภัยแห่ง Wharton School ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งมีแนวความคิดอยู่ว่า จำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับประกันชีวิต ควรจะมีการเพิ่มขึ้นตามความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล และสามารถคิดคำนวณออกมาได้จากความสามารถในการหารายได้และความจำเป็นที่คนอื่นจะต้องพึ่งพารายได้ของบุคคลนั้น


3-step-sum-assured
ทำให้เมื่อพูดถึงตามหลักการนี้แล้ว ก็จะเป็นการคิดคำนวณโดยมองว่า นับจากวันนี้ไปจนถึงวันที่เกษียณอายุ หรือวันที่เลิกทำงานเพื่อหารายได้แล้ว(ไม่มี Active Income แล้ว) รายได้สุทธิที่คาดหวังว่าจะสามารถหาได้ในอนาคตในช่วงชีวิตการทำงานที่เหลืออยู่ คิดเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ แล้วคำนวณกระแสเงินสดจากรายได้เหล่านั้น ย้อนกลับมาเป็นมูลค่ารวมสุทธิในปัจจุบัน โดยคิดคำนวณจาก 5 ปัจจัยหลัก ๆ อันได้แก่ รายได้สุทธิ ณ ปัจจุบันหลังหักภาษี อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้สุทธิ ระยะเวลาการทำงานที่ยังเหลืออยู่ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนหลังหักภาษีตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และอัตราเงินเฟ้อ
ดังนั้น จำนวนเงินที่คิดคำนวณออกมาได้เป็นทุนประกันชีวิตแล้ว จึงเปรียบเสมือนว่า หากวันใดวันหนึ่งที่คุณจากไป จะมีเงินก้อนออกมามอบให้คนภายในครอบครัว เพื่อชดเชยรายได้ของครอบครัวที่ขาดหายไปเพราะการจากไปของคุณ ซึ่งสมาชิกในครอบครัวสามารถนำเงินก้อนนี้ไปเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิตต่อไปได้ โดยที่จะต้องนำทุนที่ได้รับมานั้น ไปลงทุนต่อตามความเสี่ยงที่เหมาะสมด้วย โดยทยอยถอนเงินทุนนั้นออกมาใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ในระดับที่เพียงพอในแต่ละปี เสมือนตอนที่คุณยังมีชีวิตอยู่และหารายได้มาจุนเจือครอบครัวเช่นเดิม

3-step-sum-assured
2.แนวคิดเรื่องความจำเป็น (Needs Approach)
สำหรับแนวคิดนี้ เป็นการพิจารณาความจำเป็นตามความต้องการใช้เงินเอาประกันภัยสำหรับครอบครัว เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ โดยพิจารณาถึงความต้องการตามความจำเป็นด้านเงินสด (Cash Needs) เพื่อปลดภาระพันธะผูกพันต่าง ๆ ที่มีอยู่ของคุณ กับความต้องการตามความจำเป็นด้านรายได้ (Income Needs) ซึ่งคิดมาจากความสามารถทางการเงินที่คุณสามารถหารายได้มาอุปการะครอบครัว


3-step-sim-assured
ซึ่งในแนวคิดนี้ จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอนย่อย ๆ อันได้แก่ ขั้นตอนที่หนึ่ง ต้องประเมินความต้องการขั้นพื้นฐานของครอบครัวก่อน ยกตัวอย่างเช่น ความต้องการในการใช้เงินเพื่อชำระหนี้สินคงค้าง ความต้องการรายได้ที่ขาดไปในช่วงที่ครอบครัวกำลังปรับตัวจากการจากไป และความต้องการเงินทุนสำหรับอุปการะเลี้ยงดูคนในครอบครัวในอนาคต และขั้นตอนที่สอง ก็คือการรวบรวมมูลค่าสินทรัพย์ที่คาดว่าจะตกทอดถึงทายาทภายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเงินสด สินทรัพย์การลงทุน สินทรัพย์ส่วนตัวที่สามารถนำไปเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ รวมทั้งเงินสงเคราะห์หรือเงินชดเชยต่าง ๆ ที่อาจจะได้รับมาหลังจากเสียชีวิตแล้ว
และขั้นตอนสุดท้าย ก็คือการนำมูลค่าของความต้องการในขั้นตอนที่หนึ่ง มาลบออกจากมูลค่าสินทรัพย์รวมสุทธิในขั้นตอนที่สอง กลายเป็นความต้องการตามความจำเป็นที่ยังขาดความคุ้มครองอยู่ ซึ่งสามารถใช้เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยได้ เปรียบเสมือนว่า หากคุณเสียชีวิตไปแล้ว ด้วยสินทรัพย์ทั้งหมดที่คุณมีที่ตกทอดเป็นมรดกถึงทายาทหรือคนในครอบครัว รวมกับจำนวนเงินเอาประกันภัยแล้ว สามารถนำไปใช้ตามความต้องการอันเนื่องมาจากความจำเป็นพื้นฐานในด้านต่าง ๆ ได้อย่างพอดี

3-step-sum-assured
3.แนวคิดเรื่องความต้องการรักษาเงินทุน (Capital Retention Approach)
สำหรับแนวคิดนี้ เป็นแนวคิดที่แตกต่างไปจากสองแนวคิดข้างบน คือ ครอบครัวจะไม่นำสินทรัพย์และจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ได้รับมาแล้วหลังจากเสียชีวิตมาใช้จ่าย แต่จะนำเฉพาะส่วนของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากสินทรัพย์นั้น ๆ มาใช้ เพื่อรักษาเงินทุนตั้งต้นเอาไว้ เพราะในสองแนวคิดที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ ยังมีข้อจำกัดที่ว่า หากครอบครัวหรือผู้ที่อยู่ในอุปการะมีความต้องการและความจำเป็นที่มากขึ้นในการใช้จ่าย หรือต้องการเป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็อาจทำให้จำนวนเงินเอาประกันภัยที่เตรียมไว้แล้วนั้นไม่เพียงพอได้


3-step-sum-assured
ซึ่งในแนวคิดนี้ เริ่มต้นด้วยการประมาณการกระแสเงินสดที่ต้องการใช้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัวและผู้อยู่ในอุปการะ ว่าจำเป็นต้องใช้จ่ายเท่าไหร่ในแต่ละปี จากนั้นจึงคำนวณเงินทุนที่ต้องการ เพื่อนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ในรูปแบบกระแสเงินสดออกมาเท่ากับค่าใช้จ่ายดังกล่าว ตามความเสี่ยงที่เหมาะสมและยอมรับได้ ซึ่งก็มีตัวแปรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการคำนวณด้วย เช่น อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนหลังหักภาษีตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และอัตราเงินเฟ้อ
ดังนั้น ผลลัพธ์จากการคำนวณนี้ จึงเปรียบเสมือนการคิดคำนวณว่า ครอบครัวของคุณต้องการเงินสดจากจำนวนเงินเอาประกันภัยเพื่อนำไปลงทุนเท่าไหร่ ให้สามารถสร้างผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ตามความเสี่ยงที่ครอบครัวยอมรับได้ และนำผลตอบแทนที่ได้รับมานั้นในแต่ละปี ไปใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำเงินต้นออกมาใช้ ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว การคำนวณในลักษณะนี้ หากต้องการผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ที่คาดหวังต่อปีเป็นจำนวนมาก จะทำให้มูลค่าจำนวนเงินเอาประกันภัยนั้นสูงมากตามไปด้วย จนไม่นิยมนำมาใช้ในการคำนวณจำนวนเงินเอาประกันภัย
แน่นอนว่า ในแต่ละแนวคิดที่กล่าวมานั้น ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่อีกบ้าง ไม่ว่าจะเป็น สมมติฐานของอัตราหรือตัวแปรต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต หรือค่าใช้จ่ายของครอบครัวในอนาคตที่ยากจะคาดเดา ซึ่งแม้ว่าอาจจะทำให้การคิดคำนวณมูลค่าจำนวนเงินเอาประกันภัยออกมานั้นมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ทำให้คุณสามารถประเมินจำนวนเงินเอาประกันภัยโดยคร่าว ที่มีความใกล้เคียงกับมูลค่าความเสี่ยงภัยในชีวิตของคุณหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นในอนาคต เป็นข้อมูลเพื่อสนับสนุนในการเลือกทำประกันชีวิตต่อไปได้อย่างเหมาะสม
สำหรับการคำนวณในเชิงลึก และสูตรหรือสมการในการคิดคำนวณนั้น ก็สามารถสอบถามกับนักวางแผนการเงินหรือที่ปรึกษาการเงินที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการการวางแผนการประกันภัย เพื่อขอรับความช่วยเหลือในการคำนวณมูลค่าจำนวนเงินเอาประกันภัยออกมาได้ หรือจะลองใช้บริการของ noon รับรองว่ามีเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการคำนวณทุนประกันชีวิตที่เหมาะสม และให้คำแนะนำตามหลักการวางแผนการเงิน ที่สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจของบุคคลและแนวคิดเรื่องความจำเป็น ที่ได้อธิบายไปในเบื้องต้น อีกทั้งมีฐานข้อมูลและระบบคัดกรองแบบประกันชีวิต ที่จะช่วยให้คุณสามารถเลือกแบบประกันชีวิตที่เหมาะสมกับเป้าหมายและความจำเป็นในการสร้างความคุ้มครองอย่างเป็นกลางได้อีกด้วย



แม้ว่าประกันชีวิตจะถือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการสร้างความคุ้มครองเพื่อปกป้องความมั่งคั่งในยามที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน แต่การมีจำนวนเงินเอาประกันภัยหรือทุนประกันชีวิตที่เหมาะสมและพอดีด้วย จะทำให้แผนการเงินของคุณนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก เพื่อสร้างความมั่นใจว่า คุณจะมีความคุ้มครองชีวิตอย่างเพียงพอ จ่ายเบี้ยประกันตามความเหมาะสม และลดความไม่จำเป็นในการทำประกันชีวิต ให้สามารถนำเงินทุนส่วนเกินจากเบี้ยประกันที่จำเป็นนั้น ไปบริหารจัดการหรือออมและลงทุนต่อเพื่อเป้าหมายอื่น ๆ ต่อไป


ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หลักสูตรการวางแผนการเงิน ชุดวิชาที่ 3 การวางแผนการประกันภัย

แชร์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ยื่นภาษีไม่ทัน มีทางแก้อะไรบ้าง?

ตายแล้ว!!! มัวแต่ทำนู้นทำนี่จนลืมยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา(ภ.ง.ด.90/91) ไปเลย แล้วอย่างนี้จะเอาไงต่อดีล่ะ ไม่ต้องกังวลใจไปเพราะบทความนี้มีคำตอบ

พนักงานเงินเดือนยื่นภาษีออนไลน์ง่ายๆ แค่นี้เอง!

หมดกังวลเรื่องยื่นภาษี! บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับวิธีการยื่นภาษีออนไลน์สำหรับพนักงานเงินเดือนแบบง่ายๆ เพียงไม่กี่ขั้นตอน