2 นาที

3 เครื่องมือ(ทางการเงิน) เด็ดช่วยพิชิตค่าเทอมลูก

แชร์

การมีลูกนอกเหนือจากความพร้อมทางร่างกายแล้ว ความพร้อมทางการเงินก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะแต่ละย่างก้าวของลูกย่อมมีต้นทุนเสมอ โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน หรือค่าเรียนพิเศษ และหากประมาณมูลค่าทั้งหมดดูแล้ว ก็คงพอจะทราบกันดีว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นไม่ใช่จำนวนน้อย ๆ
ผู้ปกครองจึงจำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่แต่เนิ่น ๆ อีกทั้งยังต้องอาศัยวินัยอย่างมากในการเก็บเงินให้ถึงตามเป้าหมาย และด้วยเหตุฉะนี้เราจึงคัดสรรข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินเด็ดๆ ที่จะช่วยให้บรรดาพ่อแม่ทั้งหลายสามารถบรรลุเป้าหมายการเก็บออมเพื่อทุนการศึกษาลูกน้อยให้สำเร็จได้ง่ายขึ้น

1.เงินฝากประจำแบบปลอดภาษี
คือการฝากเงินเข้าบัญชีอย่างเป็นระบบ กล่าวคือต้องฝากเป็นประจำต่อเนื่องทุกเดือนจนกว่าจะครบตามระยะเวลาที่สัญญากำหนด และหลังจากนั้นก็สามารถถอนเงินออกมาใช้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งการฝากประจำแบบปลอดภาษีนั้นถือว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ค่อนข้างเหมาะสมกับพ่อแม่มือใหม่เพิ่งหัดออมมาก เพราะมูลค่าเงินฝากขั้นต่ำไม่สูง มีให้เลือกตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น (ขึ้นอยู่กับธนาคารที่ท่านเลือกใช้บริการ) อีกทั้งระยะเวลาฝากขึ้นต่ำส่วนใหญ่ก็มีให้เลือกตั้งแต่ 24 เดือนขึ้นไป ถือว่าไม่ช้าและก็ไม่เร็ว และสำหรับสิทธิประโยชน์ของเงินฝากประจำแบบปลอดภาษีที่ผู้ออมจะได้รับก็มีทั้ง อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากเงินผ่านบัญชีออมทรัพย์แบบทั่วไป สร้างวินัยให้แก่ผู้ออม อีกทั้งยังปลอดภาษีดอกเบี้ย เป็นต้น



2.ประกันชีวิตสะสมทรัพย์
คือเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยสร้างความคุ้มครองให้ลูกน้อยได้สำเร็จการศึกษาตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะไม่ได้อยู่ดูเขาแล้วก็ตาม และส่วนสำคัญของการวางแผนการศึกษาด้วยลูกน้อยด้วยประกันแบบสะสมทรัพย์คือการเลือกทุนประกันที่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั้งหมด หรือบางส่วนที่วางไว้ โดยสามารถศึกษาข้อมูลได้จาก บทความ 3 แนวคิดเรื่องทุนประกันที่เหมาะกับคุณ 

อีกทั้งประกันแบบสะสมทรัพย์ยังมีในส่วนของเงินคืนเมื่อครบตามสัญญาให้แก่ผู้เอาประกัน หรือในที่นี้ก็คือคุณพ่อคุณแม่นั้นเอง ซึ่งเงินที่ได้รับมานั้นก็สามารถนำไปใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของลูกน้อย และเพื่อให้เข้าใจประกันชีวิตสะสมทรัพย์มากขึ้นลองมาจุดเด่น-ด้อยของเขากันดีกว่า



จุดเด่น

  • การันตีเงินคืนในอนาคตละเอียดชัดเจน
  • สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันในกรณีที่ผู้ทำพ่อแม่(ผู้ทำประกัน) ด่วนจากไปแบบกระทันหันทางบริษัทจะมอบเงินทุนประกันชีวิตไว้ให้ลูกน้อย(ผู้รับผลประโยชน์) เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิตต่อไป
  • สร้างวินัยทางการเงินที่ดี เนื่องจากมีระบบที่ช่วยเตือนให้จ่ายเบี้ยประกันอย่างสม่ำเสมอ
  • สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี



จุดด้อย

  • เบี้ยประกันสูงหากเปรียบเทียบกับประกันชีวิตแบบอื่น ๆ
  • สภาพคล่องต่ำ กล่าวคือเราไม่สามารถเดินเข้าไปขอถอนเงินสดออกจากกรมธรรม์ได้ง่ายๆเหมือนกับการถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของเรา แต่ก็สามารถทำเรื่องเวนคืนกรมธรรม์เพื่อนำเงินสดออกมาได้
  • ผลตอบแทนน้อยกว่าการนำเงินไปลงทุนด้วยตัวเอง เพราะการซื้อประกันชีวิตอาจจะทำให้เสียโอกาสในการลงทุนในระยะยาวไปบ้าง เนื่องจากเงินคืนที่ได้จากกรมธรรม์ถ้าเทียบเป็นอัตราผลตอบแทนภายในตลอดอายุสัญญาประกันชีวิตแล้วอาจจะน้อยเกินกว่าค่าเสียโอกาสในการเก็บสะสมเงิน ซึ่งการเลือกประกันเพื่อแผนการศึกษาควรจะเน้นไปที่สร้างการคุ้มครองเผื่อกรณีที่พ่อแม่มาด่วนจากไปก่อนลูกจะสำเร็จการศึกษาตามที่ตั้งใจไว้น่าจะดีกว่า และที่สำคัญควรเก็บสะสมเงินเพิ่มเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการลงทุนไปด้วย



3. ตราสารหนี้
คือ ตราสารทางการเงินที่ผู้ถือ (ผู้ลงทุน) มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ออกตราสารหนี้มีสถานะเป็นลูกหนี้ โดยผลตอบแทนจะมาในรูปแบบของ “ดอกเบี้ย”   ซึ่งจะได้รับอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และเมื่อครบกำหนดอายุ เจ้าหนี้ (ผู้ลงทุน)ก็จะได้รับเงินต้นคืน หรือที่เราเรียกว่ามูลค่าไถ่ถอน



จุดเด่น

  • มีความเสี่ยงน้อย
  • ผลตอบแทนสม่ำเสมอ เฉลี่ยที่ 2-5%
  • ดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป (ดอกเบี้ยประมาณ 0.3 – 0.5% )



จุดด้อย

  • สภาพคล่องต่ำ
  • ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ คือการที่บริษัทผู้ออกตราสารหนี้เกิดวิกฤติจนทำให้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืนได้ ทำให้นักลงทุนอาจจะไม่ได้รับเงินคืน



ตราสารหนี้ส่วนใหญ่ที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่

  • พันธบัตรตั๋วเงินคลัง คือหลักทรัพย์ หรือตราสารที่ออกโดยกระทรวงการคลัง ส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อกู้ยืมเงินระยะสั้นจากประชาชน ปกติแล้วตั๋วเงินคลังจะมีอายุประมาณ 1-12 เดือน
  • พันธบัตรรัฐบาล คือตราสารหนี้รัฐบาลที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ เป็นตราสารหนี้ระยะยาว กล่าวคือ มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่อยู่ที่ 3-7 ปี
  • หุ้นเอกชน คือตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน กล่าวคือเอกชนมาขอกู้เงินจากนักลงทุนเพื่อนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในการดำเนินกิจการ 
  • หุ้นกู้เอกชนถือว่ามีความเสี่ยงกว่าตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วนงานรัฐ เนื่องจากมีโอกาสสูงที่บริษัทผู้ออกตราสาร(ลูกหนี้) จะผิดนัดชำระจ่ายดอกเบี้ย และเงินต้น แต่ด้วยความเสี่ยงที่สูงกว่าก็ย่อมนำพามาซึ่งอัตราผลตอบแทนที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเครื่องที่นำมาแนะกันในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่ทุก ๆ ท่าน และขอฝากอีกนิดว่าการออมเงินที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือต้องรู้ว่าเราจะออมเงินก่อนนั้นไว้เพื่ออะไรและจำนวนเท่าไหร่ แล้วจึงมาเลือกสรรว่าการออมด้วยเครื่องมือใดจะตอบโจทย์ได้ตรงจุดที่สุด

ก่อนจากกันเรามีข้อคิดดี ๆ มาฝาก การลงทุนในอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการลงทุนในความรักก็เหมือนกับความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกๆ พ่อแม่ยอมอดทนทำงานและเก็บเงินเพื่อขอแค่ให้ลูกๆ ได้มีการศึกษาที่ดี ๆ หรือได้เรียนอย่างที่ลูกต้องการ อาจจะเหนื่อยหน่อยแต่เชื่อเถอะค่ะว่ามันคุ้ม สู้ๆ นะพ่อแม่ทั้งหลาย


เครื่องมือช่วยออมเงิน

ขอบคุณที่มาดี๊ดี : salaryinvestor.com, checkraka.com, krungsri.com, set.or.th, peerpower.co.th, thaibma.or.th

แชร์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ยื่นภาษีไม่ทัน มีทางแก้อะไรบ้าง?

ตายแล้ว!!! มัวแต่ทำนู้นทำนี่จนลืมยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา(ภ.ง.ด.90/91) ไปเลย แล้วอย่างนี้จะเอาไงต่อดีล่ะ ไม่ต้องกังวลใจไปเพราะบทความนี้มีคำตอบ

พนักงานเงินเดือนยื่นภาษีออนไลน์ง่ายๆ แค่นี้เอง!

หมดกังวลเรื่องยื่นภาษี! บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับวิธีการยื่นภาษีออนไลน์สำหรับพนักงานเงินเดือนแบบง่ายๆ เพียงไม่กี่ขั้นตอน